svasdssvasds

กรมสรรพสามิต ประกาศสู่กรม ESG รื้อโครงสร้างภาษีพลังงาน

กรมสรรพสามิต ประกาศสู่กรม ESG รื้อโครงสร้างภาษีพลังงาน

หลายองค์กรประกาศตัวสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน อย่างเช่นกรมสรรพสามิต ล่าสุดประกาศตัวสู่กรม ESG พร้อมชงรัฐบาลใหม่ รื้อโครงสร้างภาษีพลังงาน คิดภาษีตามการปล่อยคาร์บอน หนุนผู้ประกอบการปรับตัว ได้สิทธิลดหย่อน ส่งออกยุโรป-อเมริกา

ESG คือทางรอด และจะไม่ใช่ทางเลือกของภาคธุรกิจอีกต่อไป เพราะองค์กรไหนๆก็พูดถึงเรื่อง ESG เพื่อรับกับเทรนด์โลกในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่..ภาคธุรกิจที่ต้องเร่งทำ ESG ปัจจุบันองค์กรภาครัฐก็เดินหน้าทำ ESG อย่างเข้มข้นเช่นกัน อย่างเช่น กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ที่ได้ประกาศเดินหน้ามุ่งสู่สิ่งแวดล้อมอย่างจริงในงานสัมมนา ROAD TO NET ZERO โอกาส & ความท้าทายทางธุรกิจ ที่จัดขึ้นโดย “ฐานเศรษฐกิจ”

โดยนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ต่อจากนี้ไปกรมสรรพสามิต มีการปรับบทบาทตัวเองเพื่อมุ่งเน้นสู่สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งหากธุรกิจไหนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกรมฯจะลดภาษีให้ และธุรกิจไหนที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากก็จะมีการเก็บภาษีมากขึ้น เช่น คาร์บอนโดยรถยนต์ทั่วไปที่ใช้ในประเทศไทยปล่อยคาร์บอน 400 ล้านตันต่อปี โดย 70% มาจากภาคขนส่งและพลังงาน ภาษีสรรพสามิตเก็บทั้งขนส่งและพลังงาน ทั้งนี้จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บเพื่อให้เชื่อมโยงกับคาร์บอนที่ขณะนี้ได้เก็บภาษีตามคาร์บอนที่ปล่อยไป จากอดีตเก็บภาษีรถยนต์ตามกระบอกสูบ ซึ่งปัจจุบันหากรถยนต์ปล่อยคาร์บอน 100 กรัมต่อกิโลเมตร จะเก็บภาษี 25%

นอกจากนี้สิ่งที่กรมสรรพสามิตจะทำต่อในอนาคต คือจะคิดภาษีตามอัตราการปล่อยคาร์บอน โดยกรมฯได้เตรียมนำเสนอรัฐบาลใหม่ให้พิจารณาโครงสร้างภาษี โดยจะทำรูปแบบเช่นเดียวกันกับรถยนต์ ซึ่งเปลี่ยนจากกระบอกสูบไปผูกกับการปล่อยคาร์บอนแทน ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับหากยุโรป และอเมริกา จะเริ่มเก็บภาษีพรมแดนสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้กรมฯกำลังคุยกับกระทรวงพาณิชย์ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อทำโครงสร้างภาษีที่ต่างประเทศยอมให้มีการหักลดหย่อนได้ หากส่งออกไปยุโรป อเมริกา  ทั้งหมด คือสิ่งที่กติกาโลกจะบีบบังคับให้ไทยทำ ดังนั้นในภาคธุรกิจสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมวันนี้จึงไม่ใช่แค่โอกาส และความท้าทาย แต่ไทยต้องเตรียมพร้อมปรับตัวด้วย

สำหรับแผนงานที่กรมสรรพสามิตประกาศเป็นกรม ESG สิ่งที่ต้องทำ คือการเริ่มวัดการปล่อยคาร์บอน โดยธุรกิจต้องเริ่มมีการวัดการปล่อยคาร์บอนก่อน เพราะท้ายที่สุดอีก 3 ปีข้างหน้าจะต้องใช้มาตรฐานของยุโรปเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่หน่วยงานราชการไทยจะต้องไปเชื่อมโยงกับยุโรปให้ได้ว่าคาร์บอนที่จะเก็บในประเทศไทยจะต้องไปหักลบได้

อย่างไรก็ตามกรมสรรพสามิตได้มีความพยายามส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยขณะนี้หากธุรกิจไหนนำเอทานอล (Ethanol) ผสมน้ำมัน กรมฯก็ลดภาษีสรรพสามิตให้ ส่วนพลาสติกที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์ในตอนนี้กรมฯจะลดภาษีให้เช่นกัน หากสามารถนำเอทานอลมาทำไบโอพลาสติก (Biodegradable Plastic) ได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจ เพราะตอนนี้เป็นที่ต้องการในตลาดโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related