รู้ไหมว่าในแต่ละปีมีอาหารกว่า 1,300 ล้านตัน ที่ถูกทิ้งอย่างสูญเปล่าให้กลายเป็นขยะอาหาร ซึ่งอาหารส่วนเกินที่กลายเป็นขยะเหล่านี้จะเกิดการเน่าเสีย สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม และยังสร้างก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ ทำลายก๊าซเรือนกระจก
การลดขยะอาหาร (Food Waste) เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่ง UN ได้ตั้งเป้าให้ในปี ค.ศ. 2030 ขยะอาหารที่เกิดจากการจำหน่ายและการบริโภคทั่วโลกต้องลดลง 50%
เคยมั้ยที่บางครั้งเราซื้ออาหารมาจากซูเปอร์มาร์เก็ตมาจำนวนมากเพื่อเก็บตุนอาหาร หรือซื้อมาเนื่องจากลดราคาและคิดว่ามันคุ้ม จนในบางครั้งลืมและกลับมาดูอีกทีก็ใกล้หมดอายุหรืออาหารเน่าเสียไปแล้ว นั่นจึงทำให้ Harriet Almond นักศึกษาชาวอังกฤษจากมหาวิทยาลัย Northumbria ได้พัฒนาเครื่องตรวจอาหารเน่า Snoot ขึ้นมาช่วยตรวจจับก๊าซที่ปล่อยออกมาจากอาหาร ซึ่งจะวิเคราะห์ว่าอาหารนั้นใกล้เน่าเสียแล้วหรือยัง
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
อุตสาหกรรมหอยของอิตาลีสะเทือน เหตุปูม้าบุกและสปาเก็ตตี้หอยลายอาจหายไป
“อ้อย” บทบาท พืชพลังงานทดแทน แต่...การลักลอบเผาก็ทำให้เกิด PM 2.5 มหาศาล
ท่องเที่ยวคิวบาแบบเก๋ๆ ปั่น "จักรยานไม้ไผ่" ลดขยะ-เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อาหารที่เริ่มเน่าเสียจะมีการย่อยสลายจุลินทรีย์ ทำให้เกิดก๊าซมีเทนซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการทำลายก๊าซเรือนกระจก เครื่องตรวจอาหารเน่า Snoot สามารถตรวจวัดแก๊สที่เกิดขึ้นกับอาหารและวิเคราะห์ว่าอาหารนั้นใกล้เสียแล้วหรือยัง และถ้าอาหารนั้นใกล้หมดอายุแล้วเครื่องนี้ก็จะพิมพ์วิธีการแปรรูปอาหารที่สามารถใช้ได้ใกล้เคียงกับอาหารนั้น
ส่วนการทำงานของเครื่องตรวจอาหารเน่าเครื่องนี้จะมีเซนเซอร์ในการตรวจจับกลิ่นที่ออกมาจากอาหารซึ่งทำงานร่วมกับกล้องขนาดเล็กเก็บข้อมูลของอาหารว่ามีความสดหรือไม่
เครื่องตรวจอาหารเน่า Snoot ยังเป็นเครื่องต้นแบบที่สามารถตรวจจับกลิ่นได้แค่จากพืชผักและผลไม้เท่านั้น ในอนาคตจะมีการพัฒนาให้สามารถใช้ได้กับอาหารทุกประเภท ซึ่ง Harriet Almond นักศึกษาผู้คิดค้นและพัฒนาหวังว่านี่อาจเป็นอีกวิธีในการช่วยลดปัญหาขยะอาหาร และช่วยลดปริมาณอาหารที่เน่าเสียจนกลายเป็นขยะ
ที่มา : Dezeen / Design for industry / ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา