นักบรรพชีวินวิทยาค้นพบฟอสซิลปลา Ferruaspis brocksi อายุ 15 ล้านปีใน McGraths Flat ออสเตรเลีย ฟอสซิลสมบูรณ์จนระบุสีและอาหารมื้อสุดท้ายได้
แหล่งฟอสซิลอันน่าทึ่งในทุ่งหญ้าแห้งแล้งของทวีปออสเตรเลียที่เรียกว่า “McGraths Flat” ซึ่งเป็น Lagerstätte แหล่งฟอสซิลที่มีการรักษาโครงสร้างและรายละเอียดของสิ่งมีชีวิตในอดีตไว้อย่างดีเยี่ยม ยังคงมอบการค้นพบอันน่าตื่นเต้นอย่างต่อเนื่อง
เพียงไม่กี่ปีหลังจากพบฟอสซิลที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี นักบรรพชีวินวิทยาก็สามารถบรรยายรายละเอียดสายพันธุ์ปลาชนิดใหม่ที่เคยมีชีวิตอยู่และตายไปในยุคไมโอซีน เมื่อ 15 ล้านปีก่อน
ผลการค้นพบที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Vertebrate Paleontology ระบุว่า ฟอสซิลของปลาตัวนี้ยังคงสภาพสมบูรณ์มากจนทีมนักบรรพชีวินวิทยาที่นำโดย “แมทธิว แม็กเคอร์รี” (Matthew McCurry) จากสถาบันวิจัยพิพิธภัณฑ์ออสเตรเลีย สามารถระบุสีของปลาได้ และยังมองเห็นได้ว่าปลาอย่างน้อยหนึ่งตัวเคยกินอะไรเป็นอาหารมื้อสุดท้าย เพราะยังมีเศษอาหารหลงเหลืออยู่ในกระเพาะ แม้เวลาจะผ่านไปหลายล้านปีภายใต้ชั้นหินที่อุดมด้วยธาตุแหล่งในบริเวณแหล่งฟอสซิล
ปลาชนิดนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า “Ferruaspis brocksi” ตามชื่อของ “โจเชน บร็อคส์” (Jochen Brocks) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ค้นพบฟอสซิลของปลาหลายตัวที่ McGraths Flat
“บร็อคส์” กล่าวว่า ปลาตัวเล็กนี้เป็นหนึ่งในฟอสซิลที่สวยที่สุดที่เคยพบที่ McGraths Flat และการค้นพบสัตว์มีกระดูกสันหลังตัวแรกท่ามกลางฟอสซิลพืชและแมลงจำนวนมากเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ พร้อมเสริมว่า การค้นพบนี้ยังเปิดโอกาสใหม่ ๆ สำหรับการทำความเข้าใจประวัติด้านวิวัฒนาการของสายพันธุ์ปลาน้ำจืดในออสเตรเลียและระบบนิเวศโบราณ
การเกิดฟอสซิลเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความร้อนและแรงกดดันมหาศาล ซึ่งมักส่งผลให้โครงกระดูกเปาะบาง ยังไม่ต้องพูดถึงเนื้อเยื่ออ่อนที่มักไม่เหลือรอดมาได้ ทำให้โอกาสที่สิ่งมีชีวิตจะกลายเป็นฟอสซิลหลังจากที่ตายไปแล้วจึงถือเป็นเรื่องหายากและโอกาสที่เนื้อเยื่ออ่อนจะยังคงสภาพอยู่ได้นั้นยิ่งหายากกว่า
แหล่งฟอสซิลที่สามารถรักษารายละเอียดของเนื้อเยื่ออ่อนและโครงสร้างระดับเซลล์ได้เรียกว่า Lagerstätte และที่ McGraths Flat ก็เป็นหนึ่งในนั้น เนื่องจากชั้นหินในบริเวณนี้เป็นหินที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กประเภท “เกอไทต์” (Goethite) ที่สามารถเก็บรักษาฟอสซิลได้อย่างละเอียดมากจนแม้แต่โครงสร้างขนาดเล็กกว่าระดับเซลล์ก็ยังสามารถมองเห็นได้
ที่นี่เองที่ “บร็อคส์” ค้นพบปลาสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน และเป็นสมาชิกของวงศ์ปลาน้ำจืดที่ไม่เคยถูกพบในรูปแบบฟอสซิลในออสเตรเลียมาก่อน นั่นคือ ปลาสเมลต์ (Smelt) ปลาขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในน้ำจืด
“แม็กเคอร์รี” อธิบายว่า การค้นพบฟอสซิลปลาน้ำจืด อายุ 15 ล้านปีนี้เปิดโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนในการทำความเข้าใจระบบนิเวศโบราณของออสเตรเลียและวิวัฒนาการของสายพันธุ์ปลา พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า
ฟอสซิลนี้เป็นสมาชิกของวงปลา Osmeriforms กลุ่มปลาน้ำจืดที่มีความหลากหลายของออสเตรเลีย ซึ่งรวมถึงปลาสายพันธุ์ อย่าง ปลาออสเตรเลียน เกรย์ลิง (Australian grayling) และปลาออสเตรเลียน สเมลต์ (Australian smelt) แต่เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่เคยพบฟอสซิล จึงทำให้ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าปลากลุ่มนี้มาถึงออสเตรเลียเมื่อใด และมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใดเมื่อเวลาผ่านไป
เนื่องจากตัวอย่างฟอสซิลปลาได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีเยี่ยม นักวิจัยจึงสามารถศึกษาวิถีชีวิตของปลา F. brocksi ได้และพบว่าปลาชนิดนี้เป็นนักล่าที่กินทุกอย่างตามโอกาส โดยส่วนใหญ่จะกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นอาหาร เพราะในกระเพาะอาหารพบปีกแมลงและเปลือกหอยสองฝาชนิดหนึ่งอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม อาหารที่พบมากที่สุดในกระเพาะ คือ ตัวอ่อนของแมลงริ้น แมลงขนาดเล็กที่วางไข้ในน้ำและตัวอ่อนจะเติบโตในแหล่งน้ำก่อนที่จะกลายป็นแมลงตัวเต็มวัย
“แม็กเคอร์รี” ระบุว่า หนึ่งในฟอสซิลที่พบยังแสดงให้เห็นว่าเคยมีปรสิตเกาะอยู่ที่หาง นั่นคือ หอยน้ำจืดวัยอ่อนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “โกลคิเดียม” (Glochidium) ซึ่งเกาะติดกับเหงือกหรือหางของปลาเพื่ออาศัยเดินทางขึ้นลงตามลำธาร
ที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้น นักวิจัยสามารถใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงเพื่อตรวจสอบโครงสร้างย่อยขนาดเล็กระดับเซลล์ที่เรียกว่า “เมลาโนโซม” (Melanosomes) โครงสร้างที่ทำให้เกิดเม็ดสีในเนื้อเยื่อ บนผิวหนังของปลา และพบว่า F. brocksi มีลักษณะของสีที่เข้มขึ้นบริเวณหลังหรือด้านหลังของลำตัว และมีสีอ่อนกว่าที่ส่วนท้อง นอกจากนี้ยังมีแถบสีเข้มสองแถบพาดไปตามความยาวลองลำตัวใกล้กับกระดูกสันหลังอีกด้วย
ด้าน “ไมเคิล เฟรเซ” (Michael Frese) นักบรรพชีวินวิทยาอีกคนจากมหาวิทยาลัยแคนเบอร์ราและ CSIRO กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ นักบรรพชีวิทวิทยาเคยใช้เมลาโนโซมเพื่อสร้างแบบจำลองสีของขนนอกในฟอสซิลขึ้นมาใหม่ได้ แต่ยังไม่เคยมีการใช้ในการสร้างแบบจำลองลวดลายสีของปลาที่สูญพันธุ์ไปเป็นเวลานานแล้วแต่อย่างใด
ฟอสซิลจาก McGraths Flat ยังคงมีสิ่งที่น่าสนใจให้เรียนรู้อีกมาก โดยนักวิจัยเคยอธิบายถึงการค้นพบแมงมุมกับดักขนาดยักษ์อันน่าทึ่งที่ค้นพบจากแหล่งนี้มาแล้ว แต่ยังมีฟอสซิลอื่น ๆ อีกมากที่รอการศึกษา รวมถึง ฟอสซิลพืช แมลงหรือแม้แต่ขนนกของนกโบราณ
“แม็กเคอร์รี” ทิ้งท้ายว่า ฟอสซิลที่พบในบริเวณนี้ก่อตัวขึ้นเมื่อราว 11 – 16 ล้านปีก่อน และเป็นเสมือนหน้าต่างที่เปิดสู่อดีต ฟอสซิลเหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นว่าพื้นที่นี้เคยเป็นป่าฝนเขตอบอุ่นที่มีความชื้นสูง และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสิ่งมีชีวิตนานาชนิด