การเผาตอซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทำให้ PM2.5 เพิ่มขึ้น เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร หากลดโปรตีนจากสัตว์ 50% หันสู่โปรตีนพืช จะช่วยชีวิตกว่า 100,000 ราย ลด CO2 35.5 ล้านตัน
งานวิจัยล่าสุดจาก Madre Brava ร่วมกับ Asia Research and Engagement เผยผลกระทบจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ต่อปัญหามลพิษ PM2.5 ในประเทศไทย ระบุว่าการเผาเพื่อการเกษตรเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทยมากกว่า 34,000 รายต่อปี
และหากอุตสาหกรรมนี้ยังคงเติบโตตามคาดการณ์ จำนวนผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 361,000 ราย ในช่วงปี 2020-2050 อันมีสาเหตุหลักมาจากการเผาตอซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งคิดเป็น 35% ของการเผาตอซังพืชในไทย
อย่างไรก็ดี งานวิจัยชิ้นนี้ เสนอว่า การลดการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ และสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีน จะสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้มากกว่า 100,000 รายภายในปี 2050 หากประเทศไทยเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับแหล่งโปรตีนทางเลือก เช่น โปรตีนจากพืช หรือโปรตีนจากแมลง ในสัดส่วนร้อยละ 50 ภายในปี 2050
ทั้งนี้ การสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีน นอกจากจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรแล้ว ยังจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ถึง 1.3 ล้านล้านบาท สร้างงานได้ 1.15 ล้านตำแหน่ง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ 35.5 ล้านตันต่อปี และคืนพื้นที่การเกษตรในประเทศไทยไปได้ 21,700 ตารางกิโลเมตร
วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้อำนวยการ Madre Brava เปิดเผยว่า การเผาตอซังพืชในช่วงฤดูแล้ง (ธันวาคมถึงเมษายน) เป็นสาเหตุหนึ่งของฝุ่น PM2.5 เนื่องจากความชื้นต่ำทำให้ฝุ่นสะสมในอากาศ ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันและภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาทำให้การไหลเวียนของอากาศไม่ดี ส่งผลให้ PM2.5 ไม่สามารถกระจายตัวได้
การบุกรุกพื้นที่ป่า และการขาดการจัดการที่เหมาะสมทำให้ไฟจากการเผาตอซังอาจลุกลามสู่พื้นที่ป่าได้ และยังมีผลกระทบจากการเผาตอซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านที่ทำให้ PM 2.5 ลอยข้ามพรมแดนเข้าสู่ประเทศไทยด้วย
แม้จะมีความพยายามในการจำกัดการเผาตอซังพืชเพื่อลดมลพิษ PM2.5 แต่ปัญหายังคงมีอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืน รายงานนี้เสนอแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยการลดความต้องการอาหารสัตว์และเพิ่มการใช้โปรตีนจากพืช ซึ่งสามารถช่วยลดผู้เสียชีวิตจากมลพิษ PM2.5 ได้มากกว่า 100,000 รายภายในปี 2050 หากสามารถเพิ่มการผลิตโปรตีนจากพืชมาทดแทนโปรตีนจากสัตว์ 50% ทั้งการบริโภคในประเทศและส่งออก
นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1.3 ล้านล้านบาท สร้างงาน 1.15 ล้านตำแหน่ง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 35.5 ล้านเมตริกตันต่อปี”
วิจัยชิ้นนี้ของ Madre Brava เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษ PM2.5 และส่งเสริมความยั่งยืนทางอาหาร โดยแนะนำให้ภาครัฐส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพและยั่งยืนมากขึ้น เช่น การให้มาตรการจูงใจทางการเงินเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชมีราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น
รวมถึงการนำเมนูอาหารเน้นพืชมาใช้ในงานและการประชุมของภาครัฐ รวมถึงโรงเรียนและโรงพยาบาล เพื่อแบบอย่างให้ประชาชนหันมาบริโภคโปรตีนจากพืชมากขึ้น
“รายงานยังเสนอให้ภาคธุรกิจผู้ค้าปลีกและธุรกิจบริการอาหารกำหนดเป้าหมายเพิ่มยอดขายของโปรตีนจากพืช โดยลดราคาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้สามารถแข่งขันกับโปรตีนจากสัตว์ พร้อมทั้งจัดวางผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชให้เด่นชัด และให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการและประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังแนะนำให้ผู้ผลิตเนื้อสัตว์และอาหารทะเลลงทุนในการวิจัยและพัฒนาโปรตีนทางเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและราคาเข้าถึงได้ง่าย เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและลดการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในระยะยาว”
“การสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีนในประเทศไทยไม่เพียงแต่จะช่วยลดมลพิษ PM2.5 แต่ยังเป็นโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพิ่มงาน สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวด้วย”
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา รองประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ การลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นแนวทางที่ถูกต้องและยั่งยืน แต่ต้องมีการวางแผนและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ชี้การปลูกข้าวโพดในพื้นที่ป่าหรืออุทยานฯ เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยต้องมีการจัดการสิทธิที่ดินและการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตได้อย่างยั่งยืน
"ข้อเรียกร้องของเราคือให้อำนาจกับท้องถิ่นในการจัดการและลดไฟลักลอบเผา และให้ความสำคัญในการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนในการควบคุมการเผาไฟ และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ”