svasdssvasds

เผยผลิตภัณฑ์หอม ก่อมลพิษทางอากาศในอาคารเท่าไอเสียรถยนต์

เผยผลิตภัณฑ์หอม ก่อมลพิษทางอากาศในอาคารเท่าไอเสียรถยนต์

งานวิจัยเผย การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอมภายในอาคาร จะนำไปสู่การเกิดมลพิษทางอากาศได้มากเทียบเท่ากับไอเสียรถยนต์ที่เกิดขึ้นภายนอกอาคาร พร้อมเสริมว่า การหายใจเอาอนุภาคขนาดนาโนเหล่านี้เข้าไปในร่างกายอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงได้

SHORT CUT

  • งานวิจัยเผย การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอมภายในอาคาร ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศได้มากเทียบเท่ากับไอเสียรถยนต์
  • การหายใจเอาอนุภาคขนาดนาโนเหล่านี้เข้าไปในร่างกายอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงได้
  • นักวิจัยคาดหวังว่า ผลการศึกษาดังกล่าวสามารถทำไปใช้ในการออกแบบอาคารและการระบายอากาศได้

งานวิจัยเผย การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอมภายในอาคาร จะนำไปสู่การเกิดมลพิษทางอากาศได้มากเทียบเท่ากับไอเสียรถยนต์ที่เกิดขึ้นภายนอกอาคาร พร้อมเสริมว่า การหายใจเอาอนุภาคขนาดนาโนเหล่านี้เข้าไปในร่างกายอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงได้

หากได้ยินหรือเห็นคำว่า “มลพิษทางอากาศ” ผู้คนทั่วไปมักจะนึกถึงโรงงานและท่อไอเสียรถยนต์ ซึ่งเป็นมลภาวะที่เกิดขึ้นภายนอกบ้านหรือนอกอาคาร แต่กลับไม่ทันได้นึกถึงว่าตัวเองก็มีส่วนทำให้เกิดมลพิษทางอากาศภายในพื้นที่ที่อาศัยอยู่จากการใช้ผลิตภัณฑ์ปรับอากาศที่ดูไม่มีอันตราย อย่าง เทียมหอม

ผลการศึกษาใหม่ของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Purdue University ในรัฐอินเดียนาของสหรัฐฯ ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอม ในกรณีนี้คือ เทียนไร้เปลวไฟ เป็นแหล่งกำเนิดของอนุภาคขนาดนาโนที่มีขนาดเล็กพอจะเข้าไปในปอดของมนุษย์ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของระบบทางเดินหายใจ

เผยผลิตภัณฑ์หอม ก่อมลพิษทางอากาศในอาคารเท่าไอเสียรถยนต์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นุสรัต จุง หนึ่งในผู้ร่วมเขียนวิจัย ระบุว่า ป่าไม้เป็นสภาพแวดล้อมที่บริสุทธิ์ แต่หากผู้คนใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และอโรมาเธอราพี ซึ่งเต็มไปด้วยกลิ่นผลิตภัณฑ์ทางเคมีเพื่อสร้างป่าขึ้นมาใหม่ในบ้าน จริง ๆ แล้ว กำลังเป็นการสร้างมลพิษทางอากาศภายในอาคารปริมาณมหาศาล ในระดับที่ไม่ควรหายใจเข้าไปในร่างกาย

ขณะที่ “เทียนละลายกลิ่นหอม” ที่วางจำหน่ายในฐานะผลิตภัณฑ์หอมไม่ติดไฟ ปราศจากควันและไร้มลพิษ ทำการตลาดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่นอกเหนือจากเทียนหอมแบบดั้งเดิม และเป็นวิธีที่ปลอดภัยกว่าในการทำให้บ้านหรือที่ทำงานอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมนั้น เพื่อประเมินความจริงของข้อกล่าวอ้างเหล่านี้ นักวิจัยได้ตรวจวัดอนุภาคที่เกิดขึ้นจากการอุ่นเทียนละลายกลิ่นหอมในบ้านตัวอย่างที่มีการติดตั้งระบบการระบายอากาศเชิงกล ในห้องปฏิบัติการซึ่งออกแบบมาเพื่อทดสอบประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคารขนาดใหญ่ เต็มไปด้วยเซ็นเซอร์ติดตามผลกระทบของกิจกรรมในแต่ละวัน ที่มีผลต่อคุณภาพอากาศภายในอาคาร

เผยผลิตภัณฑ์หอม ก่อมลพิษทางอากาศในอาคารเท่าไอเสียรถยนต์

รองศาสตราจารย์แบรนดอน บูร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธาของมหาวิทยาลัย Purdue University และเป็นผู้ร่วมเขียนวิจัย เปิดเผยว่า เพื่อทำความเข้าใจว่า อนุภาคในอากาศก่อตัวในอาคารได้อย่างไร นักวิจัยจำเป็นต้องวัดอนุภาคนาโนที่มีขนาดเล็กที่สุด จนถึงหลักนาโนเมตรเดียว เนื่องจากอนุภาคที่เล็กในระดับนี้ จะทำให้นักวิจัยสามารถสังเกตขั้นตอนแรกสุดของการก่อตัวขึ้นของอนุภาคใหม่ได้ จากการที่น้ำหอมทำปฏิกิริยากับโอโซนและก่อตัวเป็นกระจุกโมเลกุลเล็ก ๆ

นักวิจัยมีข้อมูลจากการวิจัยก่อนหน้านี้ว่าการก่อตัวของอนุภาคนาโนใหม่จะเริ่มต้นจาก “เทอร์พีน” (Terpenes) สารประกอบอะโรมาติกที่กำหนดกลิ่นของสิ่งต่าง ๆ เช่น พืชและสมุนไพร ปล่อยออกมาจากการหลอมละลายและทำปฏิกิริยากับโอโซนในชั้นบรรยากาศ อย่าง โมเลกุลโอโซน (O3)

นอกจากนี้ยังพบว่า กิจกรรมต่าง ๆ อย่าง การถูพื้นด้วยสารทำความสะอาดที่อุดมด้วยเทอร์พีน การใช้น้ำหอมประบอากาศกลิ่นซิตรัสหรือการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลที่มีกลิ่นหอม เช่น ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายภายในบ้านที่ใช้ทดสอบ ส่งผลทำให้เกิดการปล่อยเทอร์พีนสู่อากาศภายในอาคารภายในเวลา 5 นาที ขณะที่ในทางกลับกัน การใช้เครื่องกระจายน้ำมันหอมระเหยหรือการปลอกผลไม้รสเปรี้ยวทำให้เทอร์พีนเพิ่มขึ้นทีละน้อย

เผยผลิตภัณฑ์หอม ก่อมลพิษทางอากาศในอาคารเท่าไอเสียรถยนต์

ในการศึกษาปัจจุบัน พบว่า การอุ่นเทียนละลายกลิ่นหอมมีส่วนสำคัญต่อจำนวนอนุภาคใหม่ที่เกิดขึ้นในอากาศภายในตัวอาคาร โดยเฉพาะอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 100 นาโนเมตร (nm) ส่วนความเข้นข้นของบรรยากาศที่เกิดขึ้นมีมากกว่า 1,000,000 อนุภาคนาโนต่อลูกบาศก์เซนติเมตร (106 cm-3) เทียบได้กับความเข้มข้นที่ปลอยออกมาจากเทียนจุดแบบดั้งเดิม (106 cm-3) เตาแก๊ส (105 – 107 cm-3) เครื่องยนต์ดีเซล (103 – 106 cm-3) และเครื่องยนต์ก๊าซธรรมชาติ (106 – 107 cm-3)
อย่างไรก็ตาม จากการเปรียบเทียบ ไม่พบการปล่อยเทอร์พีนที่มีนัยสำคัญเมื่ออุ่นเทียนละลายที่ไม่มีกลิ่น

นักวิจัยยังได้ตรวจสอบอัตราปริมาณรังสีที่สะสมในระบบทางเดินหายใจ (RD) ซึ่งเป็นวิธีที่มีประโยชน์ในการศึกษามลพิษทางอากาศที่ใช้วัดจำนวนอนุภาคที่สะสมในระบบทางเดินหายใจเมื่อเวลาผ่านไป โดยพบว่า การก่อตัวของอนุภาคใหม่ที่ถูกกระตุ้นโดยการใช้เทียนละลายกลิ่นหอมในอาคารทำให้เกิดค่ามัธยฐานสำหรับอนุภาคที่มีขนาด 1.8 ถึง 100 นาโนเมตรที่ 29,000 ล้านต่อนาที (2.9 x 1010 min-1) หรือราว 483 ล้านอนุภาคต่อวินาที

เผยผลิตภัณฑ์หอม ก่อมลพิษทางอากาศในอาคารเท่าไอเสียรถยนต์

อนุภาคของเทียนละลายหอมส่วนใหญ่ จะสะสมอยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบน และด้วยขนาดที่เล็กมาก หมายความว่า อนุภาคสามารถเคลื่อนที่ไปมาระหว่างเซลล์และเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งอาจไปถึงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย อย่าง สมอง ได้

ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์เริ่มสำรวจผลกระทบของการสูดดมเทอร์พีนที่มีต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ นักวิจัยทีมนี้ยอมรับว่า ยังมีข้อมูลอีกมากมายให้เรียนรู้ ซึ่งจะสามารถค้นพบได้จากการศึกษาเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวสามารถทำไปใช้ในการออกแบบอาคารและการระบายอากาศได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นุสรัต จุง ทิ้งท้ายว่า การวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอมไม่ได้เป็นเพียงแหล่งให้ความหอมเท่านั้น แต่ยังอาจเปลี่ยนแปลงเคมีของอากาศภายในอาคาร ซึ่งนำไปสู่การก่อตัวของอนุภาคนาโนเข้มข้นที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมเสริมว่า กระบวนการเหล่านี้ควรได้รับการพิจารณาในการออกแบบและการทำงานของอาคารและระบบ HVAC ซึ่งเป็นระบบการทำความร้อน การระบายอากาศ และการปรับอากาศ เพื่อลดการสัมผัสของผู้คนด้วย