SHORT CUT
นักวิจัยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมของอังกฤษ ค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์ จำนวน 200 รอย อายุเก่าแก่ 166 ล้านปี ในเหมืองหินแห่งหนึ่งของเมืองออกซ์ฟอร์ดเชียร์ ถือเป็นการค้นพบ “ทางหลวงไดโนเสาร์” ยุคดึกดำบรรพ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมของอังกฤษ เปิดเผยการค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์ในยุคดึกดำบรรพ์ ประมาณ 200 รอย กระจายอยู่ทั่วพื้นดินของเหมืองหินแห่งหนึ่งในเมืองออกซ์ฟอร์ดเชียร์ ทางตอนใต้ของประเทศ จนได้รับการขนานามว่าเป็น “ทางหลวงไดโนเสาร์” ที่ประกอบขึ้นจากรอยเท้าไดโนเสาร์ขนาดมหึมาเรียงต่อกันเป็นแนวทางเดิน 5 เส้นทาง และคาดการณ์ว่ามีอายุเก่าแก่ประมาณ 166 ล้านปี
ร่องรอยเหล่านี้บ่งชี้ว่าสถานที่แห่งนี้เคยเป็นทางสัญจรของไดโนเสาร์ อย่างน้อย 2 สายพันธุ์ ที่ทิ้งรอยเท้าเอาไว้เมื่อประมาณ 166 ล้านปีก่อน ในช่วงเวลาที่พื้นที่ของเมืองออกซ์ฟอร์ดเชียร์ถูกขนาบข้างด้วยทะเลเขตร้อนและมีทะเลสาบน้ำเค็มตื้น ๆ และหาดโคลนกระจายอยู่ทั่วไป
ดร.ดันแคน เมอร์ด็อก (Dr. Duncan Murdock) จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เปิดเผยว่า หลักฐานแนวรอยเท้าไดโนเสาร์มีรายละเอียดที่ครบถ้วนสมบูรณ์มากจนทำให้นักวิจัยสามารถสังเกตเห็นได้ว่าโคลนมีรูปร่างอย่างไร เมื่อเท้าของไดโนเสาร์กดลงไป และเมื่อรวมเข้ากับหลักฐานจากฟอสซิลอื่น ๆ เช่น โพรงดิน เปลือกหอยและพืช ก็ช่วยทำให้เข้าใจสภาพแวดล้อมทะเลสาบโคลนที่ไดโนเสาร์เดินผ่านได้มากยิ่งขึ้น
นักวิจัยระบุว่า แนวรอยเท้า 4 รอยเป็นของไดโนเสาร์กินพืชคอยาวตัวใหญ่ในกลุ่มซอโรพอด อย่าง "เซทิโอซอรัส" (Cetiosaurus) ซึ่งอาจมีความยาว 18 เมตร ส่วนทางเดินไดโนเสาร์เส้นทางที่ 5 คาดว่าน่าจะเป็นของ “เมกะโลซอรัส” ไดโนเสาร์กินเนื้อที่มีนิ้วเท้า 3 นิ้วและมีกรงเล็บยาวที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งอาจมีความยาวของขนาดตัวได้ถึง 9 เมตร และเป็นไดโนเสาร์ตัวแรกที่ได้รับการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ในปี 1824 หรือราว 200 ปีก่อนการขุดค้นครั้งใหม่นี้พอดี
ทางเดินที่ยาวที่สุดในการค้นพบครั้งนี้ มีระยะทางกว่า 150 เมตร โดยหากนำทั้ง 5 เส้นทางมารวมกัน ก็จะทำให้ที่นี่กลายเป็นสถานที่ประทับรอยเท้าของไดโนเสาร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอังกฤษ
ขณะเดียวกันการค้นพบทางหลวงไดโนเสาร์ยุคก่อนประวัติศาสตร์แห่งนี้ยังเพิ่มจำนวนของรอยเท้าไดโนเสาร์ในบริเวณกล่าว ซึ่งเคยมีการค้นพบทางเดินไดโนเสาร์ 40 เส้นทางในปี 1997
โชคดีที่เทคโนโลยีได้ก้าวหน้าไปมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาและนักวิจัยสามารถใช้ประโยชน์จากการถ่ายภาพด้วยโดรนเพื่อสร้างแบบจำลอง 3 มิติของรอยเท้าที่เพิ่งค้นพบ และบันทึกรายละเอียดที่ไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อน ด้วยความหวังว่าจะได้รับข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ เกี่ยวกับวิธีการเคลื่อนไหวและพฤติกรรมของไดโนเสาร์โดยใช้แบบจำลองดิจิทัลเหล่านี้
ข้อมูลจากเส้นทางหนึ่งแสดงให้เห็นว่าไดโนเสาร์ สายพันธุ์เมกาโลซอรัส ก้าวเท้าห่างกันประมาณ 2.7 เมตร โดยระยะห่างระหว่างรอยเท้าบ่งบอกว่าสิ่งมีชีวิตยุคก่อนประวัติศาสตร์เดินด้วยความเร็วใกล้เคียงกับมนุษย์ยุคใหม่ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เช่นเดียวกับไดซอโรพอดที่พบว่าเดินทางด้วยความเร็วเท่ากัน และเส้นทางของไดโนเสาร์พวกนี้ยังข้ามเส้นทางของเมกาโลซอรัสด้วยซ้ำ จนนำไปสู่การตั้งคำถามที่น่าสนใจว่าไดโนเสาร์เหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไรและอย่างไร
ที่มา: IFLScience