SHORT CUT
"ทับลาน" ผืนป่าต้นลานธรรมชาติผืนสุดท้ายของประเทศไทย กับความท้าทายปัญหาที่ดินอุทยาน- ส.ป.ก. ช่วยชาวบ้านหรือเอื้อนายทุน?
SPRiNG สรุปข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากกรณีการรับฟังความเห็นปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี 14 มี.ค. 66 โดยใช้เส้นแนวสำรวจของปี 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการร่วม (One Map) ซึ่งหากมีการปรับจะมีการเพิกถอนพื้นที่กว่า 265,000 ไร่ ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารย์ไปอย่างกว้างขวาง
การดำเนินการนี้ใครจะได้หรือเสียประโยชน์ ประชาชนในเขตป่ามีสิทธิไหมที่จะใช้ชีวิต หรือเป็นไปเพราะมีกลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองหนุนหลัง ป่าทับลานเคยผ่านอะไรมาบ้าง ใครมาก่อนมาหลัง แล้วนโยบาย One Map ตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่ดินในประเทศไทยหรือไม่ หากที่นี่ผ่านแล้ว จะมีพื้นที่ไหนเป็นจุดต่อไป
ป่าทับลาน ถูกประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเมื่อปี 2524 เป็นอุทยานแห่งชาติในภาคอีสานและภาคตะวันออก มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับที่สองของไทย 2,236 ตารางกิโลเมตร หรือราว 1,401,761.91 ไร่ เป็นรองจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของลุ่มน้ำบางปะกง และเป็นหนึ่งในผืนป่า “แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” ของยูเนสโก โดยด้านตะวันตกของอุทยานแห่งชาติทับลานเชื่อมกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ด้านตะวันออกเชื่อมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ด้านทิศใต้เชื่อมกับอุทยานแห่งชาติปางสีดาซึ่งมีเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติตาพระยาด้วย อุทยานแห่งชาติทับลานจึงเป็นป่าใหญ่ที่อยู่จุดกึ่งกลางของพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
อีกหนึ่งข้อเท็จจริงน่าสนใจคือในพื้นที่ป่าทับลาน เคยเป็นฐานของพรรคคอมมิวนิสต์มาก่อน จนกระทั่งในปี 2523 รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ออกนโยบาย 66/23 ให้คนเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์กลับมาเป็นผู้พัฒนาชาติไทย มีการอพยพชาวบ้านในเขตมูลหลง มูลสามง่าม ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำมูลออกมาตั้งหมู่บ้านชื่อ “ไทยสามัคคี” โดยจัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านคนละ 10 ไร่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่กันชนกับคอมมิวนิสต์
ก่อนจะมีการประกาศเขต “อุทยานแห่งชาติทับลาน” ใน 1 ปีต่อมา คือปี 2524 (นายกฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์, 9 กรกฎาคม 2567) โดยปัจจุบัน ชุมชนไทยสามัคคี อยู่ใน ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
ความเคลื่อนไหวของเรื่องนี้เป็นที่พูดถึงหลัง “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวและให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการปรับปรุงเส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยใช้แนวเขตที่สำรวจเมื่อปี พ.ศ.2543 โดยระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ราษฎรเดิม ก็ได้ที่อยู่ที่อาศัยทำกินตามปกติธุระ อยู่แล้ว มีระเบียบข้อบังคับ ” ห้ามซื้อขายที่ดิน ห้ามเปลี่ยนมือ “ โดยเด็ดขาด ราษฎรที่ได้ครอบครองทำกินมาตั้งแต่แรก จนถึงปัจจุบันได้มีที่ทำกิน/อาศัยได้ตามปกติธุระ แต่ถ้าถูกกันพื้นที่ออกไปและมอบให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้ดำเนินการ การเปลี่ยนมือจะเกิดขึ้นแน่นอน
ด้านมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยเพราะขัดต่อการดำเนินงานของคณะติดตามการแก้ปัญหาเรื่องของชุมชนในพื้นที่ป่า รวมถึงกระบวนการนี้ขัดต่อเจตนารมณ์ของกรมอุทยานฯ และอาจนำไปสู่การสูญเสียพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆได้อีก การเพิกถอนพื้นที่อุทยานแบบเหมารวมกรณี จะเป็นช่องโหว่ให้กลุ่มทุนเข้ามาแสวงหาประโยชน์แน่นอน โดยพบว่า ในพื้นที่มีปัญหาการประกาศเขตอุทยานทับซ้อนพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนจริง แต่ควรแก้ไขเป็นรายกรณี เป็นไปตามสภาพปัญหาแต่ละจุด
นอกจากนี้ ในพื้นที่ที่จะมีการปรับแนวเขต จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มคนที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีรุกพื้นที่อุทยาน โดยเฉพาะเขต อ.วังน้ำเขียว กว่า 400 คดี ได้ประโยชน์และพ้นผิด รวมถึงจะเป็นบรรทัดฐานแก่พื้นที่อุทยานอื่นทั่วประเทศที่มีปัญหาลักษณะเดียวกัน
อีกเหตุผลสำคัญคือ “อุทยานแห่งชาติทับลาน” เป็นหนึ่งในพื้นที่มรดกโลกด้านธรรมชาติของไทย การเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวเขตอาจจะกระทบต่อสถานะของมรดกโลกด้วย
#Saveทับลาน ขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งใน X เมื่อคืนวันที่ 8 กรกฎาคม ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างกว้างขวางและร่วมลงชื่อแสดงความเห็นผ่านฟอร์มออนไลน์ของกรมอุทยานฯ ที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 12 ก.ค. และเพิ่งจัดเวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่เมื่อวันที่ 4-5 ก.ค.ที่ผ่านมา
ในวันเดียวกันกับที่ #Saveทับลาน ติดเทรนด์ ก็มีกลุ่มภาคประชาสังคมและนักวิชาการออกมาแสดงความเห็นดึงสติสังคม อย่าหลงไปกับวาทกรรมเฉือนป่าเพราะพื้นที่พิพาทเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาจากการประกาศเขตอุทยานเมื่อปี 2524 ที่ไปประกาศทับซ้อนกับพื้นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของชาวบ้านจำนวนมากที่อาศัยอยู่ก่อนจะมีกฎหมาย ภาคประชาชนเรียกร้องจนนำไปสู่การรังวัดใหม่เมื่อปี 2543 และนำไปสู่การฟังความเห็นเพื่อมาปรับเป็นแนวเขตใหม่ ดังนั้นเรื่องนี้มีคนเดือดร้อนอยู่จริง พื้นที่ที่จะมีการเปลี่ยนแนวไม่ได้เฉือนพื้นที่อุดมสมบูรณ์ แต่เป็นพื้นที่ชายป่าที่ปัจจุบันมีลักษณะเป็นชุมชนมากกว่าการเป็นป่าไปแล้ว
ดร.สมนึก จงมีวศิน ผอ.ฝ่ายวิจัย EEC Watch โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “เอ็นดูกลุ่มคนที่ไปลงชื่อ #saveทับลาน แต่พอรู้ “ข้อเท็จจริง” กลับไปลบชื่อตัวเองไม่ทันแล้ว…แนะนำ แปะ #saveความรู้”
ส่วนนายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษากลุ่มพีมูฟ ก็ออกมาโพสต์ข้อความว่า “ถ้าผมเป็นพลเมืองห่วยๆ ผมจะรีบลงชื่อคัดค้านการเพิกถอนทับลาน โดยไม่สนข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง ไม่แม้จะถามว่าตรงนั้นมีป่าอยู่หรือไม่ รัฐเอากฎหมายอุทยานไปปล้นเขามาหรือเปล่า” และ “เอาอุทยานฯไปประกาศทับหัวเขาพอเขาเรียกร้องให้เพิกถอนคืนสิทธิ์ให้เขา กลับใช้คำว่า”เฉือนป่า” ลองไปแหกตาดูบ้างไหมว่าตรงนั้นมันมีต้นไม้กี่ต้น”
ด้าน ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า สิ่งที่พวกกลุ่มอนุรักษ์ตั้งใจไม่พูดถึงคือ อุทยานแห่งชาติหลายแห่ง จัดตั้งโดยไม่เคยสนใจที่จะสำรวจและกันพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่อยู่มาก่อนออกก่อนที่จะประกาศเป็นเขตป่า สนใจแต่จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากเข้าไว้ แต่ไม่สนสี่สนแปดว่า ป่าที่จัดตั้งขึ้นนั้นไปแย่งที่ทำกินของใครเขามาบ้าง กลายเป็นชนวนความขัดแย้ง เผชิญหน้าระหว่างรัฐกับชุมชนเรื้อรังมานานหลายทศวรรษ อุทยานแห่งชาติทับลาน ก็เช่นกัน การใช้วาทกรรม "ผืนป่าที่ถูกเฉือน" ของกลุ่มอนุรักษ์บางกลุ่ม จึงเป็นการจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อปั่นกระแสเขียวตกขอบในหมู่ชนชั้นกลางอย่างจงใจ ทั้งที่ในความเป็นจริง ผืนดินทำกินของชาวบ้านต่างหากที่ถูกเฉือนไปเซ่นป่าอนุรักษ์มานานหลายสิบปี
ด้าน ธนัชญา ขุนพรม ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวความในใจผ่านไลฟ์สด ช่วงหนึ่งว่า “การปรับแนวเขตนี้ ชาวบ้านไม่ได้จะรุกล้ำพื้นที่ป่าเข้าไปอีก ทุกอย่างยังคงเดิม ขอให้ทุกคนเข้าใจด้วย ชาวบ้านต้องการให้ปรับแนวเขตเพื่อให้ชัดเจนไม่ให้ทับซ้อนกับพื้นที่ของชาวบ้าน เราแค่อยากให้ที่ดินที่เราอยู่เป็นกรรมสิทธิ์ของเรา ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของอุทยาน แบ่งพื้นที่ให้ชัดเจน เราไม่ได้บุกรุกล้ำพื้นที่อุทยานเข้าไปอีก”
ปี 2518 ป่าทับลาน เข้าสู่โครงการการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ครั้งแรก ทำให้เกิดการอพยพชุมชนในพื้นที่มูลหลงและมูลสามง่าม
ปี 2521 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีโครงการปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ป่าวังน้ำเขียวและป่าภูหลวง
ปี พ.ศ.2523 เกิดนโยบาย 66/23 นำคนออกจากป่ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ตั้งหมู่บ้าน “ไทยสามัคคี” ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
ปี 2524 ประกาศใช้ พรบ.อุทยานแห่งชาติ กำหนดเขต “อุทยานแห่งชาติทับลาน” และพบว่าประกาศฉบับนี้ ขีดแนวไปรุกพื้นที่ชุมชน พื้นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ด้วย
ปี 2528 มีการเพิกถอนพื้นที่บางส่วนออกจากการเป็นป่าสงวน เปลี่ยนเป็นพื้นที่ ส.ป.ก.
ปี 2536 คณะรัฐมนตรีมีมติให้นำป่าสงวนแห่งชาติมาจัดเป็นที่ดิน ส.ป.ก.
ปี 2540 รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีมติให้ตั้งคณะกรรมการเพพื่อแก้ปัญหาทับลาน เกิดคณะกรรมการร่วมปรับปรุงแนวเขต
ปี 2543 เกิดผลการศึกษาแนวเขตใหม่ของอุทยานแห่งชาติทับลาน มีพื้นที่บางส่วนที่ทับแนวกันกับพื้นที่ ส.ป.ก. และพื้นที่บางส่วนที่เป็นเขตป่านอกแนวอุทยานเดิมก็ลากขยายพื้นที่ออกไป
ปี 2561 เกิดมติคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลักดันนโยบาย One Map เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนกันของพื้นที่รัฐ ตามมาตรา 1:4000 โดยมีการตรากฎหมาย พรบ.คณะกรรมการที่ดินแห่งชาติในปี 2562
ปี 2566 ชาวบ้านในพื้นที่ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมที่กรมอุทยานฯ ประกาศแนวเขตทับซ้อนกับที่ดินที่อยู่อาศัยเดิมของประชาชน และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กันพื้นที่ 265,000 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก.
ปี 2567 เกิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของกรมอุทยานว่าจะปรับแนวเขตไปตามผลการศึกษาเมื่อปี 2543 หรือใหม่ และเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารย์ในสังคมผ่าน #saveทับลาน
ปัญหาพื้นที่ซับซ้อนเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน เพราะเรื่องที่ดิน คาบเกี่ยวกับทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงมหาดไทย
เมื่อปี พ.ศ.2565 สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คณะรัฐมนตรีจึงได้มีการคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบผลดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) โดยใช้แผนที่จากกรมแผนที่ทหาร และรับรองเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐ
กลุ่มจังหวัดที่ 2 จำนวน 11 จังหวัด
ประกอบด้วย จังหวัดจันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ชัยนาท, ตราด, นครนายก, นครสวรรค์, ระยอง (ยกเว้นกรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด), ลพบุรี, ศรีสะเกษ และสระบุรี (จากทั้งหมด 7 กลุ่มจังหวัด กลุ่มละ 11 จังหวัด) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนของหน่วยงานรัฐ
ประกอบด้วย 9 หน่วยงาน ได้แก่กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมพัฒนาที่ดิน กรมธนารักษ์ กรมที่ดิน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมส่งเสริมสหกรณ์สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลมีแนวคิดจะแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินโดยทางออกของปัญหาดังกล่าวคือต้องมีแผนที่ที่ชัดเจนและหนึ่งเดียวที่ชี้ชัดว่าเป็นแผนที่ที่ถูกต้อง เช่น กรณีปัญหาพิพาทจุดหมุดนิรนาม ส.ป.ก. 4-01 ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครศรีราชสีมา ที่มีการทับซ้อนกัน 3 หน่วยงาน คือ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ และ ส.ป.ก. ทำให้เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 รัฐบาลต้องเน้นย้ำให้ใช้หลักการสำคัญอย่างแรก คือ การบังคับใช้กฎหมายในการกำหนดแนวเขตทับซ้อนต้องแก้ไข
โดยขณะนั้นรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงกลาโหม ขับเคลื่อนแนวเขตที่เป็นของรัฐที่เรียกว่า One Map โดยกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้กรมแผนที่ทหาร ดำเนินการเรื่องแผนที่ เพื่อยุติข้อพิพาท
การแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างอุทยานแห่งชาติและที่ดิน ส.ป.ก. เพื่อให้ประชาชนทำกิน นอกจากจะมีข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่าอาจะนำไปสู่การแปลงที่ดินเหล่ามาเป็นพื้นที่หาประโยชน์ของนายทุนได้ในอนาคต
แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือ พื้นที่มากกว่า 150,000 ไร่ ที่เป็นพื้นที่ที่ถูกจับจองโดยกลุ่มของรีสอร์ตกว่า 400 คดีและยังไม่เป็นที่สิ้นสุด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “88 การ์มองเต้ รีสอร์ต” ที่เคยเป็นคดีความหลังจัดพื้นที่สัมมนาพรรคพลังประชารัฐ เมื่อปี 2562 หลายฝ่ายจึงมองว่าการปรับปรุงพื้นที่แนวเขตอุทยานครั้งนี้จะเป็นการยกประโยชน์ให้นายทุนหรือไม่?
แม้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะระบุว่าต้องแยกแยะว่าใครคือนายทุน ใครคือเกษตรกร และอันไหนคือการกระทำผิดกฎหมาย อันไหนคือปัญหาประชาชน ก็ตาม แต่ปัญหาอาจจะซับซ้อนไปกว่านั้น เพราะประชาชนหลายครัวเรือนที่เข้าไปทำกินในพื้นที่ดังกล่าว อาจจะปรับบ้านให้กลายเป็นโฮมสเตย์ตามการส่งเสริมของรัฐบาลเมื่อปี 2547 ถึงแม้จะไม่ใช่นายทุนรายใหญ่ แต่ก็เข้าข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยว เช่นกัน ปัญหานี้จึงยิ่งซับซ้อนเข้าไปอีก
ในทางกลับกัน นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังชี้ให้เห็นว่า จากการเฉือนพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติทับลานนั้น จะกลายเป็น "ทับลานโมเดล" ที่เป็นแนวทางในการเฉือนป่าที่มีปัญหาที่ดินทับซ้อนแห่งอื่นๆ ตามมาเป็นโดมิโน ทั้งเกาะช้าง เกาะเสม็ด หรือเขาค้อซึ่งมีตัวเลขคนอยู่ในป่ากว่า 4 ล้านไร่