SHORT CUT
ช่วงหน้าร้อนแบบนี้ อะไรทำได้ต้องทำ นวัตกรรม นโยบาย หรือวิธีการใดที่ช่วยให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ "ร้อนระอุ" ได้ต้องทำไว้ก่อน ดังเช่น ระบบแจ้งเตือนฉุกเฉินของญี่ปุ่น รวมถึงเปิด สถานหลบร้อน ให้ประชาชนได้เข้าไปพักพิง
อากาศร้อนแบบนี้ ไว้ใจได้ที่ไหน ป้องกันไว้ก่อนดีกว่า กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นเปิดตัวระบบแจ้งเตือนอากาศร้อน (ระดับอันตราย) เพื่อช่วยปกป้องประชาชนจากการเสียชีวิตจากโรคลมแดด ฮีทสโตรก หรืออันตรายที่มากับอากาศร้อน
อันที่จริงระบบแจ้งเตือนนี้ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว แต่ล่าสุด มีการเพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าไป ปูพื้นคร่าว ๆ ว่า ญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดด ฮีทสโตรก รวมแล้วเกิน 1,000 รายต่อปี นี่จึงเป็นเหตุผลหลักของการสร้างระบบแจ้งเตือนนี้ขึ้นมา
หลักการของระบบแจ้งเตือนนี้คือ กระทรวงสิ่งแวดล้อมจะประกาศแจ้งเตือน “อากาศร้อน” ล่วงหน้า 1 วัน กระจายกันไปในแต่ละจังหวัด โดยกระทรวงฯ จะใช้หลายปัจจัยในการพิจารณา ได้แก่ ดัชนีความร้อน อุณหภูมิ ความชื้น และอื่น ๆ
เมื่อทางกระทรวงฯ เห็นว่าอากาศร้อนระดับอันตราย จะมีประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ รับทราบ จากนั้นภาคท้องถิ่นจะรับไม้ต่อ และจะอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนด้วยการเปิดสถานที่ “หลบร้อน” เช่น ห้องสมุด ศาลา หรือศูนย์ชุมชน ให้ประชาชนได้เข้าไปพักพิง
นี่เป็นตัวอย่างของมาตรการเชิงรุกที่รัฐบาลออกมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนญี่ปุ่นในช่วงฤดูร้อน เพราะอย่างที่กล่าวไป อากาศร้อนอันตรายถึงชีวิตจริง ๆ
เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ชาวญี่ปุ่นต้องเผชิญฤดูร้อนที่ร้อนที่สุด นับตั้งแต่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาบันทึกมาตั้งแต่ปี 2441 อย่างไรก็ดี ระบบแจ้งเตือนดังกล่าวจะมีผลจนถึง 23 ตุ.ค. 67