SHORT CUT
เนื่องในวันเมษาหน้าโง่ (April Fool's Day) สปริงพาไปดูกลเม็ดการหลอกลวงในโลกของสัตว์ สัตว์ 7 ตัวนี้ มีวิธีการตักตวงผลประโยชน์ตัวอื่น ๆ ยังไง มีตั้งแต่ไปแอบหย่อนลูกในรังคนอื่น เลียนเสียง เปลี่ยนสีพลางตัว แถมได้ผลดีชะงัก
“มีมนุษย์เท่านั้นแหละที่โกหก”
โลกพร่ำสอนกันมาเนิ่นนานว่า “มนุษย์แตกต่างจากสัตว์” ด้วยว่าเรามีอารยธรรม ภาษา ลำตัวตั้งตรง มีทักษะการใช้มือ มีตรรกะเหตุผล และความคิดสร้างสรรค์ในประดิษฐ์คิดค้นวัฒนธรรม เทคโนโลยี จนลากพามาเป็นมนุษย์มาเป็นเราในปัจจุบัน
ทว่า ในแง่ของพฤติกรรมมีหลายเรื่องที่มนุษย์และสัตว์มีจุดร่วมกันอยู่ เรากินเหมือนกัน เราสมสู่ เราบริโภคอาหาร เราดำรงเผ่าพันธุ์ หรือชั้นย่อยลงไปอีกของพฤติกรรมก็คือ การโกหก
การโกหกในความหมายของอารยธรรมมนุษย์ถูกบัญญัติไว้ว่า การที่ผู้พูดบอกข้อมูลเท็จให้กับบุคคลอื่น โดยที่ผู้พูดทราบอยู่แก่ใจว่า นั่นไม่ใช่ความจริงทั้งหมด โดยวัตถุประสงค์ของการกระทำย่อมแตกต่างกันไป อาทิ โกหกรักษาหน้า หลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ สร้างความประทับใจ ไปจนถึงโกหกว่าร้ายผู้อื่น
ขณะเดียวกัน ในหมู่สัตว์โลกก็มีไอเดียคล้ายคลึงกับมนุษย์เช่นเดียวกัน คำอธิบายที่นักวิทยาศาสตร์อธิบายส่งต่อกันมาระบุว่า สรรพสัตว์มีการแข่งขัน แก่งแย่ง ชิงอาหาร และทรัพยากรกันอย่างดุเดือดไม่แพ้มนุษย์ ดังนั้น จึงเกิดสารพัดวิธีที่สัตว์ใช้หลอก “กันและกัน”
เนื่องในวันเมษาหน้าโง่ หรือ April Fool’s Day สปริงจึงหยิบเรื่องราวการโกหกของสัตว์โลก 7 ตัวมาให้ได้อ่านกัน บอกเลยว่าแต่ละตัวมีกลยุทธ์ “การหลอก” ที่แยบยลชนิดที่เห็นแล้วต้องเอ่ยดัง ๆ ว่า “คิดได้ไง…”
ใครว่าการสลับลูกเกิดขึ้นแค่ในละคร นกคัคคู (Cuckoo) เป็นนกที่ขี้เกียจตัวยง จึงเกิดเรื่องว่าตัวเมียมักนำลูกของตัวเองไปแอบหย่อนไว้ในรังนกตัวอื่น สมมติว่ามันจะแอบวางไข่ของตัวเอง 1 ฟอง มันก็จะไปทำลายไข่ของนกตัวอื่น เพื่อนำลูกตัวเองไปแทนที่
ด้านนกที่ถูกหลอก ก็เชื่ออย่างสนิทใจว่านั่นคือลูกของตัวเอง การศึกษาพบว่า บางครั้งนกคัคคูที่แอบแฝงไปในรังของตัวอื่น เติบโตเร็วกว่า ได้รับอาหารจากแม่ (ปลอม) มากกว่าลูกในไส้เสียอีก
แต่ความแปลกคือเมื่อนกคัคคูเติบใหญ่ ซึ่งใหญ่กว่านกปกติหลายเท่า เจ้าแม่ปลอมก็ยังนึกว่านี่คือลูกอยู่ดี เหลือร้ายจริง ๆ สปริงยกให้เป็นมหากาพย์การหลอกที่สุดของอาณาจักรสัตว์เลย
“ผมไม่ใช่หนู แค่หน้าคล้าย” โอพอสซัม (Opossum) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีกระเป๋าหน้าท้องเหมือนจิงโจ้ ขนาดตัวใหญ่กว่าแมวเล็กน้อย แม้จะตัวไม่ใหญ่มาก แต่เจ้าตัวนี้เคลื่อนไหวช้ามาก ฉะนั้น จึงเสี่ยงที่จะถูกล่าอย่างยิ่ง
พวกมันจึงหลอกลวงผู้ล่าด้วยการ “แกล้งตาย” (Playing Dead) แต่ไม่ใช่แกล้งนอนตายธรรมดา ๆ นะจะบอกให้ เมื่อแกล้งตายโอพอสซัมจะลิ้นจุกปาก น้ำลายไหล ตาถลน และหลั่งน้ำเมือกสีเขียวส่งกลิ่นเหม็นเน่าไปทั่วอาณาบริเวณ
พฤติกรรมดังกล่าวถูกอธิบายทางวิทยาศาสตร์ว่า เมื่อโอพอสซัมเกิดอาการเครียด อัตราการเต้นของหัวใจของมันจะช้าลง กระทั่งลงไปนอนแกล้งตายแบบนั้น ซึ่งใช้เวลากว่า 2 – 3 ชม.กว่าจะกลับมาเป็นปกติ
กระสือแห่งอาณาจักรหิ่งห้อย อันนี้สปริงตั้งฉายาให้เอง เพราะเจ้าหิ่งห้อยเฟมฟาเทล (Femme Fatale Firefly) มีกลยุทธ์หลอกล่อเหยื่อด้วยแสงไฟ
ต้องบอกว่าในสาแหรกของหิ่งห้อยนั้นก็มีสปีชีส์แยกย่อยลงไปอีกเกือบ 140 สายพันธ์ ดังนั้น พฤติกรรมกระพริบแสงหาคู่ของตัวเมียมีสิทธิสูงมากที่จะมีตัวผู้มาติดกับ ความน่ากลัวคือเจ้าหิ่งห้อยชนิดนี้สามารถเลียนแบบการกระพริบแสงหาคู่ของสายพันธ์อื่น ๆ ได้
ดังนั้น เมื่อใครบินมาแบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่ สุดท้ายก็ต้องพบกับความจริงที่ว่า นี่คือแสงลวง และไม่นานก็ถูกหิ่งห้อยเฟมมาเทลจับกินเป็นอาหารเลิศรสในทันที
ในอารยธรรมมนุษย์ ประโยคที่ว่า “อย่าทำตัวเป็นกิ้งก่า ที่เปลี่ยนสีไปเรื่อย” ถูกใช้ในเชิงลบ หมายถึงคนที่ไม่มีหลักยึด ปลิ้นปล้อนไปตามสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป จริง ๆ แล้วถอดมาจากพฤติกรรมของกิ้งก่าแบบไม่มีผิดเพี้ยน
กิ้งก่าคาเมเลียน (Chameleon) สามารถเปลี่ยนเม็ดสี ‘เมลานิน’ ในร่างกายเพื่อใช้พลางตัวจากภัยอันตราย หรือเพื่อซุ่มแอบกินแมลงที่เผลอ กล่าวคือกิ้งก่าสามารถเปลี่ยนสีไปตามสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน กิ้งก่าคาเมเลียนก็ปรับสีไปจุดประสงค์บางประการด้วย อาทิ เพื่อดึงดูดคู่ ประชันกับตัวผู้ตัวอื่น ๆ หรืออาจเป็นสีที่บ่งชี้ว่าพวกมันยอมแพ้และไม่คิดจะมีเรื่องด้วย ก็ถือเป็นการโกหกด้วยภาพลวงตารูปแบบหนึ่ง
นกรสองุ่น เอ้ยไม่ใช่... นี่คือ นกบลูเจย์ (Blue Jay) เป็นนกพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในแถบอเมริกาเหนือ เห็นสีน่ารักเหมือนขนมหวานแบบนี้ แต่วิธีที่ใช้หาอาหารแสบใช่ย่อย
นกบลูเจย์ มีความสามารถพิเศษติดตัวอย่างหนึ่งคือ สามารถเลียนแบบเสียงนกนักล่าได้เหมือนชนิดที่ว่าปิดตาฟัง มนุษย์อย่างเรา ๆ ก็แทบจะแยกไม่ออก วิธีนี้ทำให้นกตัวอื่นที่กำลังหาอาหารอยู่ดี ๆ ต้องบินเตลิดไป เพราะได้ยินเสียงของผู้ล่า
จากนั้น เมื่อเห็นแล้วว่านกตัวอื่นบินออกมาจากตรงไหน เจ้านี้ม่วงรายนี้ก็จะบินไปยังจุดนั้น และฉกเอาอาหารไปเก็บไว้ที่รังของตัวเองอย่างหน้าตาเฉย “แสบจริง ๆ”
เมื่อพูดถึงกระรอกคือต้องมาคู่กับถั่วเฮเฮลนัท เพราะนี่คือเมนูโปรดของพวกมัน เช่นกันกระรอกเทาตะวันออก (Eastern Gray Squirrel) เป็นสัตว์ที่ใช้ฟันแทะอาหาร แถมมีกลเม็ดการหลอกที่เด็ดดวงไม่แพ้ใคร
ถั่วเฮเซลนัทซึ่งเกริ่นไปก่อนแล้วว่าเป็นอาหารโปรดของพวกมัน ฉะนั้น พวกมันจะไม่ยอมให้ใครมายุ่มย่าม หรือขโมยไปเป็นของตัวเองได้เด็ดขาด การศึกษาพบว่า กระรอกเทาใช้วิธีขุดหลุมเยอะ ๆ แล้วแสร้งว่าตรงนั้นมีถั่ว ตรงนี้ก็มีถั่ว เพื่อปั่นหัวจอมโจรทั้งหลายที่จ้องจะมาแย่งอาหารของมัน
หากถามใครต่อใครว่าถ้าพูดถึงเรื่องความเจ้าเล่ห์ คุณนึกถึงสัตว์ชนิดใด เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยตอบตรงกันว่า จิ้งจอก (Fox) อย่างแน่นอน เพราะตั้งแต่เด็ก ๆ เราต่างเติบโตมากับนิทานอีสาป ที่บอกว่าจิ้งจอกคือตัวร้าย
ขณะเดียวกัน ในอารยธรรมต่าง ๆ ก็ล้วนนิยาม (Label) ว่าจิ้งจอกเป็นตัวแทนของความเจ้าเล่ห์ ชั่วร้าย และไว้ใจไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ตำนานจิ้งจอกเก้าหางในจีน ที่เป็นนางมารร้าย สามารถแปลงกายเป็นสตรีรูปงาม หลอกล่อให้ฮ่องเต้ตกอยู่ในภวังค์จนลืมปกครองบ้านเมือง
แต่รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้วจิ้งจอกเป็นสัตว์ที่รักสงบ ชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง มักหากินตอนกลางคืน แต่สัญชาตญาณความดุร้ายจะแสดงให้เห็นก็ต่อเมื่อ มีภัยเข้ามาใกล้ตัว
แต่ต้องบอกว่าความเล่ห์เหลี่ยมเหลือร้ายของจิ้งจอกก็ถือว่าอยู่ในระดับท็อป ข้อมูลระบุว่า จิ้งจอกชอบแอบไปลักลอบขโมยไข่ของนกกิน แต่ด้วยความที่ไข่ของนกบางชนิดใหญ่เกินไป ปากกว้างไม่พอ งั้นใช้ขาเตะให้แตกไปเลย เรียกว่าเป็นสัตว์ที่ใช้อุบายในการแก้ปัญหาได้อย่างเรียบง่ายและชาญฉลาด
ที่มา: Discover Magazine, kpax, คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, the101, dogilike, grunge
ข่าวที่เกี่ยวข้อง