svasdssvasds

นักธรณี พบ แก่น-เนื้อโลก ไม่ได้หมุนในระนาบเดียวกัน คาดใช้เวลา 8.5 ปี เวียนครบ

นักธรณี พบ แก่น-เนื้อโลก ไม่ได้หมุนในระนาบเดียวกัน คาดใช้เวลา 8.5 ปี เวียนครบ

แก่นโลกชั้นใน ไม่ได้หมุนเป็นระนาบเดียวกับเนื้อโลก จากการศึกษาของนักธรณีฟิสิกส์จากประเทศจีน ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communication ระบุว่า แก่นโลกชั้นในมีแกนหมุนที่เอียงตัวออกห่างจากแกนหมุนของเนื้อโลกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 0.17 องศา

โลกหรือหัวหอม

หากถามว่าสถานที่ใดลึกลับที่สุดในโลก คงไม่มีคำตอบใดสามารถสู้รบปรบมือกับ “แก่นโลกชั้นใน” ได้ เพราะ ณ ขณะนี้มนุษย์ก็ยังไม่สามารถหาวิธีไปสำรวจ หรือล่วงรู้ความลับที่อัดอยู่ใต้ผืนพสุธาได้ เหตุเพราะอยู่ลึกลงไปถึง 6,378 กิโลเมตร ไม่ว่าจะเจาะหรือใช้เทคโนโลยีใด ก็ต้องพ่ายไปอยู่ดี  

ในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ เราอาจเคยได้ยินมาว่า โครงสร้างของโลกเปรียบได้กับหัวหอม ในความหมายว่า เราสามารถปลอกเปลือกโลกออกมาได้เป็นชั้น ๆ คล้ายกับหัวหอม และหากเราปลอกหัวหอมออกมา เราจะพบกับ

  • เปลือกโลก (Crust) ระดับความลึก 8 – 40 กิโลเมตร
  • ธรณีภาค (Mantle) ระดับความลึก 2,900 กิโลเมตร
  • แก่นโลกชั้นนอก (Outer Core) ระดับความลึก 5,100 กิโลเมตร
  • แก่นโลกชั้นใน (Inner Core) ระดับความลึก 6,378 กิโลเมตร

โครงสร้างของโลก Cr. Wikimedia Common

ความเข้าใจล่าสุดเกี่ยวกับ “แก่นโลกชั้นใน” คงต้องย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งในประเทศจีน พบว่า แก่นโลกชั้นในหยุดเคลื่อนที่ ต้องเรียนว่า แก่นโลกชั้นในเคยหยุดเคลื่อนที่มาแล้วหนึ่งครั้งในช่วงต้นศตวรรษ 1970s

ทว่า การหยุดหมุนในครั้งนั้น เป็นการหยุดชั่วคราวเท่านั้น จากนั้นแก่นโลกชั้นในก็จะเริ่มหมุนอีกครั้ง แต่เริ่มหมุนไปในทิศทางตรงกันข้าม การค้นพบในครั้งนี้เป็นขยักแรกของการศึกษาแก่นโลกชั้นใน

แก่นโลกชั้นในเอียง

ล่าสุด นักธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยอู่ฮั่นของจีน ตีพิมพ์ผลงานการศึกษาลงในวารสาร Nature Communications ระบุว่า แก่นโลกชั้นในมีแกนหมุนที่เอียงตัวออกห่างจากแกนหมุนของเนื้อโลกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 0.17 องศา เป็นผลให้ขั้วและแกนหมุนของโลกส่ายไปมา ซึ่งกว่าจะหมุนครบรอบอาจกินเวลานานถึง 10 ปี

จุดเริ่มต้นการศึกษาดังกล่าว ต้องย้อนกลับไปในปี 2018 นักธรณีฯ จากแดนมังกรรายนี้ เริ่มเก็บข้อมูลขั้วหมุนโลก พร้อมทั้งสำรวจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ต้องเรียนว่าการค้นพบในครั้งนี้ช่วยให้มนุษยชาติสามารถเข้าใจเกี่ยวโครงสร้างของโลกมากยิ่งขึ้น

แก่นโลกชั้นในมีแกนหมุนที่เอียงตัวออกห่างจากแกนหมุนของเนื้อโลกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 0.17 องศา  Cr. Flickr / MIT

หากอิงจากการศึกษาดังกล่าว พบว่า การเอียงตัวของแก่นโลกชั้นในมีองศาน้อยกว่าที่โลกเคยเข้าใจนับร้อยเท่า แถมการเอียงตัวของแก่นโลกไม่ได้แปรผันไปตามกาลเวลาอีกด้วย

ผู้ตีพิมพ์การศึกษาดังกล่าว ระบุว่า บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของแก่นโลกชั้นใน น่าจะมีมวลสารที่มีความหนาแน่นสูงมากกว่าโครงสร้างส่วนอื่น ๆ ของโลกเพียงเล็กน้อย

ย้อนกลับไปช่วงปลายทศวรรษ 1980 บรรดานักวิทยาศาสตร์เริ่มตั้งต้อสันนิษฐานว่า การหมุนของแก่นโลกชั้นในและเนื้อโลก น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ขั้วหมุนของโลกสามารถเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ แกนหมุน ซึ่งระยะเวลาที่จะหมุนเวียนครบรอบ ต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี

ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าว ระบุว่า ระยะเวลาการเคลื่อนที่ของขั้วหมุนโลกน่าจะอยู่ที่รอบละ 8.5 ปี หรืออาจจะมากกว่า-น้อยกว่า คาดเคลื่อนไม่เกิน 75 วัน

 

 

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related