เปิดประโยชน์ "ต้นตีนเป็ด" พรรณไม้คู่หน้าหนาว ชวนพิสูจน์ด้วยการดมกลิ่นต้นตีนเป็ด ว่าส่งกลิ่นฉุนชวนมึนหัวหรือยัง เพราะจะเริ่มส่งกลิ่นตลบอบอวลในช่วงปลายปี หรือช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวพอดี พรรณไม้ปีศาจ บางคนรักบางคนเกลียด ควรถอนทิ้งหรือไม่?
คุณอยู่ทีมไหนระหว่าง ‘หอมดีทนได้’ หรือ ‘เหม็นเข้าไส้’?
มีคำกล่าวติดตลกว่า หากไม่แน่ใจว่าประเทศไทยเข้าสู่หนาวหรือยัง ก็ให้เดินไปดมกลิ่นต้นตีนเป็ด หากฉุนเตะจมูกเมื่อไหร่ ก็แปลว่าเราเข้าสู่หน้าหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว
สำหรับบางประเทศฤดูหนาวคือความโหดร้าย หิมะขาวโพลน อากาศเย็นติดลบ แต่สำหรับประเทศไทย บางที ‘หน้าหนาว’ อาจเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนต่างเฝ้ารอคอยให้มาถึงในเร็ววัน เพราะคำว่า ‘หนาว’ ในพจนานุกรมของคนไทยทุกวันนี้อาจหมายถึงแค่อากาศไม่ร้อนระอุเท่านั้น
อีกหนึ่งสิ่งที่มักมาพร้อมกับหน้าหนาวคือ กลิ่นรัญจวนของต้นตีนเป็ด ที่มักโชยกลิ่นให้เราสูดดมได้เมื่อเดินผ่าน พรรณไม้ชนิดนี้ถูกถกเถียงกันมานานแล้วว่า ควรเก็บไว้หรือโค่นทิ้งไปให้หมดจะดีกว่า เพราะนอกจากกลิ่นฉุนที่ท่องทั่วระแวกแล้ว ก็ไม่เห็นจะมีประโยชน์ใดใดให้เห็นอีก
วันนี้ Spring News จึงชวนสำรวจแง่มุมอื่น ๆ ของต้นตีนเป็ด หรือ พญาสัตบรรณ ภายใต้กลิ่นรัญจวนนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร ข้อดี ข้อเสีย ควรขุดทิ้งเลยดีไหม?
ต้นตีนเป็ด หรือ พญาสัตบรรณ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Asltonia scholaris บ้างก็เรียกว่า ต้นตีนเป็ดเขียว ต้นตีนเป็ดไทย สักตะบัน หรืออาจสรุปรวบง่าย ๆ ได้ว่า ‘ต้นเหม็น’
พรรณไม้ชนิดนี้สามารถพบได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลำต้นสูงราว 12 – 20 เมตร เปลือกต้นหนาเปราะ หากกรีดที่ผิวของลำต้นจะพบยางสีขาว ลักษณะดอกของต้นตีนเป็ดคล้ายดอกเข็ม มีสีขาวอมเหลือง
ใบของต้นตีนเป็ด จะขึ้นเกาะกลุ่มกันอยู่ที่บริเวณปลายกิ่ง ในหนึ่งชื่อจะมีใบอยู่ราว5 – 7 ใบ สีเขียวเข้ม ขนาดของใบยาวประมาณ 10 – 12 เซนติเมตร แซมแทรกด้วยดอกตามแต่ละช่อ
ดอกของต้นตีนเป็ดจะเริ่มบานในช่วงสิ้นปี และจะส่งกลิ่นที่บางคนก็บอกว่าหอม บางคนก็บอกว่าเหม็น ภายในกลิ่นนั้นประกอบไปด้วยสารหอมระเหยในกลุ่ม ลินาโลออล (Linalool) ซึ่งบางคนอาจแพ้กับสารระเหยชนิดนี้ หากสูดดมเข้าไปมาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการแพ้ น้ำหูน้ำตาไหลได้
หากเราอยู่ฝ่ายที่ไม่ได้เกลียดต้นตีนเป็ดเข้าไส้ แล้วสามารถก้าวข้ามเรื่องกลิ่นไปได้แล้ว รู้หรือไม่ว่า ต้นตีนเป็ดก็มีสรรพคุณทางยาเหมือนกัน แต่คนมักมองข้ามเรื่องนี้ไป แล้วหมกมุ่นอยู่กับกลิ่นที่ชวนมึนหัวเป็นไหน ๆ
ในอดีตคนไทยมีความเชื่อที่ส่งต่อกันมาว่าการปลูก ‘ต้นตีนเป็ด’ สามารถช่วยส่งเสริมด้านสิริมงคลได้ หากปลูกไว้ในบริเวณบ้านจะยิ่งส่งเสริมบารมี ลาภยศของเจ้าของบ้านให้เจริญก้าวหน้า
ต้นตีนเป็ดมักนิยมปลูกกันในวันเสาร์ บริเวณทิศเหนือของบ้าน แถมยังมีการถือเคล็ดอีกว่า ต้องเป็นเจ้าของบ้านเท่านั้นที่เป็นคนลงมือปลูกด้วยตัวเอง หากต้องการให้ออปชั่นเสริมเรื่องดวงทำงาน
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม เราถึงยังสามารถพบเห็นต้นตีนเป็ดได้ทั่วไป แม้แต่ในบริเวณบ้านของคนทั่วไปก็ตาม หรืออย่างบริเวณสวนสาธารณะก็พบเห็บได้ทั่วไป เพราะต้นตีนเป็ดสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนในอากาศได้ แต่ก็ต้องแลกมากับการที่ผู้คนหลีกเลี่ยงบริเวณนั้นเพราะทนกลิ่นฉุนของมันไม่ไหว
หากเราสังเกตจะพบว่า หลาย ๆ เขตของกรุงเทพมหานครมีการปลูกต้นตีนเป็ดเต็มไปหมด เพื่อเอาไว้บังแสงแดด และสร้างร่มเงาในสวนสาธารณะ หรือแม้กระทั่งบริเวณทางเท้าเองก็ตาม
ใครขับรถเส้นรามคำแหงบ่อย ๆ จะพบเห็น ต้นตีนเป็ด เป็นเรื่องปกติ จากการสำรวจพบว่า ถนนรามคำแหงมีต้นตีนเป็ดถึง 352 ต้น ถนนร่มเกล้ามี 327 ต้น ส่วนถนนสายอื่น ๆ อย่าง เกษตร-นวมินทร์ พบว่ามีต้นตีนเป็ดเกือบหนึ่งพันต้นเลยทีเดียว (956 ต้น)
คำถามถัดมาคือ เมื่อได้เวลาอันสมควรตีนเป็ดก็ส่งกลิ่นฉวีวันอยู่ทุก ๆ ปี ประชาชนในกรุงเทพฯ ก็ไปร้องเรียนกันอยู่เรื่อย ๆ กทม. จะแก้ไขปัญหาอย่างไร?
เมื่อปี 2564 ผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะ กทม. นายยงทวี โพธิษา ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ไว้ว่า กทม. ไม่มีนโยบายขุดย้ายต้นไม้ในกทมฯ แต่ได้แจ้งไปยังสำนักงานเขตแล้วว่า ไม่ควรปลูกเพิ่ม เพราะพี่น้องประชาชนตบเท้าเข้ามาร้องเรียนกันอยู่ทุกปี นอกจากนี้ยังแนะให้เลือกปลูกพรรณไม้ชนิดอื่น ๆ แทน
แล้วคุณล่ะ คิดว่าควรทำอย่างไรกับต้นตีนเป็ดดี?
กลายเป็นเรื่องปกติประจำช่วงสิ้นปีไปแล้ว ในเรื่องเฟคนิวส์ของต้นตีนเป็ด ที่ถูกส่งต่อกันในโลกออนไลน์ต่าง ๆ นา ๆ อย่างไปที่แล้วก็มีการกระจายข้อมูลว่า ต้นตีนเป็ดประกอบไปด้วยสารไซยาไนด์ (Cyanide) ที่เป็นอันตรายต่อการทำงานของหัวใจ
ทำให้ ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ต้องออกมาไขข้อสงสัยกันอยู่ทุกปี ผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดยระบุใจความว่า
ต้นตีนเป็ดประกอบไปด้วยสาร ‘ไซยาไนด์’ นั้นไม่เป็นความจริง เพียงแค่กลิ่นของมันเหม็นสำหรับบางคน จึงถูกจับไปโยงกับสารอันตรายมั่วไปเสียหมด
จริงอยู่ที่ต้นตีนเป็ดที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทยจะไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่สำหรับคนที่แพ้กลิ่นฉุนของต้นตีนเป็ดก็ควรเลี่ยงจะดีกว่า
เพราะช่วงสิ้นปีเมื่อดอกบาน จะส่งกลิ่นรัญจวนณทั่วอาณาบริเวณจนรบกวนการใช้ชีวิตของคุณได้ แต่ภายใต้กลิ่นฉุนนี้ ใช่ว่าจะไม่มีอันตรายอยู่เลย เพราะบางส่วนของลำต้นก็สร้างอันตรายให้เราได้เช่นกัน
หอมหรือเหม็น คงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ ฉะนั้น เราจะตัดปัจจัยนี้ออกไปก่อน แล้วพิจารณาดูว่า ต้นตีนเป็ดมีอันตรายอื่น ๆ หรือไม่ที่มนุษย์ควรระแวกระวังเอาไว้
ต้นตีนเป็ดคือชื่อเรียกรวม ๆ ของพรรณไม้หลายชนิด แต่ลงลึกไปในรายละเอียด ต้นตีนเป็ดที่คนนิยมปลูกบริเวณบ้าน หรือตามสวนสาธารณะไม่ได้มีผลเสีย หรือมีพิษร้ายแรงอะไร แต่ให้ระวังต้นตีนเป็ด 4 ชนิดนี้ให้ดี เพราะยางของลำต้นนั้นมีพิษ ซึ่งหากได้รับพิษนี้เข้าไปการทำงานของหัวใจอาจถูกรบกวนได้
นอกเหนือจากกลิ่นฉุน หรือพิษจากยางของต้นตีนเป็ดแล้ว ยังมีข้อเสียอย่างอื่นด้วยเช่น ราก เนื่องต้นตีนเป็ดมีลำต้นที่สูงหลายสิบเมตร ฉะนั้นจึงเป็นต้นไม้ที่มีรากใหญ่และยาวเกาะผิวดินเพื่อให้ลำต้นตั้งตรงแข็งแรง
อย่างที่กล่าวไปว่า เมืองไทยเรามีความเชื่อในการปลูกต้นตีนเป็ดเพื่อเสริมดวง เสริมโชคลาภ ด้วยการปลูกไว้ที่ทิศเหนือของบ้าน หากไม่ได้รับการคำนวณ หรือวางแผนดี ๆ พื้นปูน หรือถนนระแวกนั้นอาจได้รับความเสียหายจากรากที่กัดเซาะได้
นอกจากนี้ ลำต้นที่สูงใหญ่ และใบไม้ของต้นตีนเป็ดอาจบดบังทัศนวิสัย ป้ายบอกทาง หรือสอดแทรกอยู่ตามสายไฟริมถนนด้วย ถึงตรงนี้ คุณคิดว่าต้นตีนเป็ดมีข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน?
สำหรับเหลี่ยมแย่ ๆ ของต้นตีนเป็ด เราได้แจกแจงให้ทุกท่านทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขอพามาดูเหลี่ยมในแง่ดีบ้างว่า อรรถประโยชน์ของ ต้นตีนเป็ด นั้นมีอะไรบ้าง ในแง่ของการรักษาอาการเจ็บป่วยของร่างกาย โดยอ้างอิงข้อมูลจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
หลังจากเสร็จสิ้นการอ่านบทความชิ้นนี้ ไม่ว่าทุกท่านมีภารกิจไปทำสิ่งใดต่อ ซื้อกับข้าว เลิกงงาน กลับบ้าน ไปดูหนัง หรือไปทำกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่
หากท่านมิได้เดินทางด้วยรถส่วนตัว Spring News ชวนสังเกตดูว่า สรุปแล้วประเทศไทยเข้าหน้าหนาวหรือยัง? พิสูจน์ด้วยการดมกลิ่นหอม (ฉุน) ฉวีวรรณของ ‘ต้นตีนเป็ด’
ที่มา: pharmaoffice.kku
เนื้อหาที่น่าสนใจ