ในปี พ.ศ. 2566 นี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เดินทางเข้าสู่ปีที่ 45 ด้วยความทุ่มเทของผู้บริหารและพนักงานจากรุ่นสู่รุ่นตลอด 45 ปีที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์ว่า ปตท. ได้ดำเนินงานเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ
พร้อมนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมีธรรมาภิบาล รับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงไม่เคยละทิ้งการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
ปตท. มองเป้าหมายที่กว้างไกล ทั้งในระดับประเทศและการเป็นบริษัทพลังงานไทยข้ามชาติชั้นนำ พร้อมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างความสำเร็จของโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ 1 ล้านไร่ ซึ่งต่อยอดสู่โครงการเพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ป่าไม้อีกหลายโครงการ เช่น โครงการ “รักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง” เพื่อเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมน้อมนำแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” มาปฏิบัติ
จุดเริ่มต้นโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ 1 ล้านไร่ ของ ปตท.
โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ 1 ล้านไร่ ของ ปตท. เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2537 โดยชื่อเต็มคือ โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 โดยการทำงานมีการกำหนดกลยุทธ์นำทางด้วยการคัดเลือกพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชุมชน ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน รอบแปลงปลูกป่า ในการเตรียมพื้นที่ การปลูก การดูแลรักษา และการป้องกันไฟป่า โดยเริ่มปลูกป่าแรก ณ แปลงปลูกป่า FPT 9/1 (Forest Plantation Target) ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ต๋าและป่าแม่มาย อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ปตท.ได้มีการลงพื้นที่พูดคุยกับชุมชน พบว่าชุมชนมีการกลุ่มกัน เพื่อปลูกและดูแลป่า
ปตท. จึงเข้าไปช่วยเสริมความเข้มแข็งของชุมชน สร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของป่า ผลกระทบของผืนป่าที่ถูกทำลายและส่งผลให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ขาดแคลนแหล่งน้ำ เมื่อชุมชนเข้าใจถึงเป้าหมายของโครงการจึงให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการรักษาป่าระยะยาวเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับแปลงปลูกป่าอีกหลายโครงการ อาทิ โครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) โครงการเยาวชนปตท. รักษาป่า และโครงการอาสาสมัครป้องกันไฟป่าอีกด้วย
สืบสานงานฟื้นฟูป่า พัฒนาป่าต้นน้ำอย่างต่อเนื่อง
ต่อมาในวันที่ 14 กรกฎาคม 2540 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ราษฎรชาวนครราชสีมา ผู้บริหารและพนักงาน ปตท. เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินทรงปลูกต้นประดู่ป่า “ต้นที่ 100 ล้าน” ณ แปลงปลูกป่า FPT 49 ตำบลลำนางแก้ว อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา แปลงปลูกป่าขนาดใหญ่ที่สุดในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ จำนวนเนื้อที่ 26,675 ไร่
ด้วยจำนวนพื้นที่ป่าที่ ปตท. ตั้งใจปลูกกว่า 1 ล้านไร่ ดังนั้นความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน นอกจากการประสานความร่วมมือกับกรมป่าไม้อย่างใกล้ชิดแล้ว ต้องพึ่งพาชุมชนที่อยู่รอบพื้นที่แปลงปลูกป่า เป็นผู้ดูแล บำรุงรักษาผืนป่าที่ปลูกอย่างต่อเนื่อง ปตท. ดำเนินงานปลูกฟื้นฟูป่าร่วมกับชุมชน ภายใต้หลักคิด “ปลูกป่า ได้มากกว่าต้นไม้ คนอยู่ได้ ป่าอยู่รอด” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยความสำเร็จของงานปลูกป่า ปตท. จนถึงปัจจุบัน
สำหรับการฟื้นฟูฟื้นที่ต้นน้ำ ปตท. มีเป้าหมายในการปลูกป่าในพื้นที่ลุ่มน้ำที่สำคัญต่างๆ รวม 81 แปลง อาทิ ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำกก ลุ่มน้ำอิง ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน เมื่อป่าเริ่มฟื้นคืน เป็นแหล่งน้ำอุปโภค บริโภค ส่งเสริมการเกษตร และรักษาสมดุลของระบบนิเวศ มากไปกว่านั้นชุมชนยังทำหน้าที่ให้บริการทางนิเวศ ทั้งแหล่งสมุนไพร พืชท้องถิ่นพื้นบ้าน แหล่งอาศัยของสัตว์ป่าน้อยใหญ่นานาชนิด เช่น กระทิง เสือโคร่ง ช้างป่า เป็นต้น นอกจากการฟื้นฟูป่าบกแล้ว ปตท. ยังได้ร่วมปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนให้กลับมาคืนความอุดมสมบูรณ์อีกหลายสิบแปลง กลายเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ แหล่งอาหารทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา ที่สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับชุมชนรอบแปลงปลูก
วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีน้อมเกล้าฯ ถวายผืนป่าภายใต้ โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ในส่วนที่ ปตท. ร่วมดำเนินการทั่วประเทศ ในโอกาสนี้ทรงปลูกต้นโกงกางใบใหญ่ถือเป็น ต้นไม้ต้นที่ 200 ล้าน ต้นไม้ต้นสุดท้ายอันเป็นสัญลักษณ์แห่งการปลูกป่าครบภารกิจ ณ แปลงปลูกป่า FPT 29 อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมพื้นที่แปลงปลูกป่ากว่า 1,012,401 ไร่ ครอบคลุม 48 จังหวัด
จากโครงการปลูกป่า ต่อยอดสู่ “สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท.”
จากความสำเร็จของโครงการปลูกป่าฯ 1 ล้านไร่ ปตท. จึงขยายผลสู่การก่อตั้ง “สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท.” (PTT Reforestation and Ecology Institute) ขึ้นในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556 มีภารกิจในการส่งเสริมสนับสนุนการฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ เพื่อเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นส่วนสำคัญในการบรรเทาสภาวะโลกรวน รวมทั้งพัฒนาศูนย์เรียนรู้ พัฒนางานวิจัยเพื่อขยายผลองค์ความรู้การฟื้นฟูป่าสู่สาธารณะ
ในวันที่ 9 มกราคม 2557 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ติดตามการดำเนินงานในพื้นที่แปลงปลูกป่า FPT 29 ซึ่งเมื่อปี 2547 ปตท. ได้ร่วมกับชุมชนปากน้ำปราณ และหน่วยงานภาคี ในการพัฒนาแปลงปลูกป่าประวัติศาสตร์ผืนนี้ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ โดยได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงว่า “ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี” ถือเป็นพื้นที่เรียนรู้การฟื้นฟูป่าชายเลน รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของอำเภอปราณบุรี การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ แก่ผู้บริหาร พนักงาน ปตท. และราษฎรชาวปราณบุรีที่ได้มาร่วมรับเสด็จอย่างใกล้ชิด
สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ยังคงมีภารกิจหลักในการฟื้นฟูป่าร่วมกับหน่วยงานภาคีและชุมชน ทั้งยังทำหน้าที่ในการพัฒนารวบรวมและเผยแพร่ความรู้การฟื้นฟูป่าแก่สาธารณะ ผ่านการพัฒนาศูนย์เรียนรู้เพิ่มอีก 2 แห่ง ต่อจากศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด “สร้างป่าให้กับคนกรุงเทพฯ” พลิกฟื้นผืนป่าจากพื้นที่ทิ้งขยะรกร้าง ด้วยการสร้างป่านิเวศ โดยการปลูกจำลองสังคมพืชป่าท้องถิ่นของกรุงเทพ ถือเป็นแปลงปลูกป่าผืนแรกของ ปตท. ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ จ.ระยอง พลิกฟื้นพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว จากสภาพดินเสื่อมโทรม พัฒนาเป็นพื้นที่แปลงปลูกป่าเพื่อการศึกษาวิจัยหลากหลายรูปแบบ สู่การเป็นห้องเรียนธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของภาคตะวันออก รวมถึงต้นแบบของแปลงปลูกป่าคาร์บอนเครดิต
ในปี 2566 นี้ ถือเป็นวาระพิเศษครบรอบ 45 ปี ของ ปตท.นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนที่ 10 ย้ำเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทย พร้อมประกาศเป้าหมายปลูกป่าเพิ่มเติม ร่วมกับกลุ่ม ปตท. อีก 2 ล้านไร่
วันที่ 8 สิงหาคม 2566 เป็นจุดเริ่มต้นปลูกต้นไม้ต้นแรกของโครงการ ร่วมกับภาครัฐ เครือข่าย และชุมชนมากกว่า 450 คน ปลูกป่า 4,500 ต้น ณ แปลงปลูกป่า ปตท. จังหวัดลพบุรี เพื่อเป้าหมายการดูดซับก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ มุ่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างต่อเนื่อง