อาจารย์ มอ.หาดใหญ่ เผย ภาพถ่ายดาวเทียมพบตัวเรือต้องสงสัยลักลอบปล่อยน้ำมันลงทะเลอันดามัน ด้านโฆษกทร. รับเรื่องแล้ว เตรียมตรวจสอบข้อมูลเพื่อสืบหาผู้กระทำผิดต่อไป
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2566 อ.วีรนันท์ สงสม ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมและบริการด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีและการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้โพสต์ภาพถ่ายดาวเทียมของเรือต้องสงสัยที่ลักลอบปล่อยน้ำมันลงทะเล จนทำให้มีคราบน้ำมันและก้อนน้ำมันดินลอยขึ้นเกยชายหาดในหลายจังหวัด ทั้งที่ จ.พังงา จ.ภูเก็ต และล่าสุดที่ จ.กระบี่
โดยในภาพแสดงให้เห็นร่องรอยคราบน้ำมันเป็นทางยาวในทะเล จากเรือที่ลอยลำอยู่นอกชายฝั่งหมู่เกาะสิมิลัน เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม และได้บรรยายความว่า
“ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีข่าวคราบน้ำมันลอยมาติดที่ชายหาดในจังหวัดภูเก็ต และ พังงา ผมก็เลยลองใช้ภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel-1 ตรวจสอบดูว่าต้นเหตุมาไหน และเกิดขึ้นเมื่อไหร่” อ.วีรนันท์ เขียน
“จากการตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 พบรอยรอยหนึ่งมีระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่เกาะสิมิลันไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยแนวของรอยนี้อยู่ตรงกับตำแหน่งของเรือลำหนึ่งพอดี จึงเป็นไปได้ว่ารอยดังกล่าวคือคราบน้ำมัน ทั้งนี้เมื่อลองเทียบลักษณะภาพถ่ายดาวเทียมกับงานวิจัยอื่นๆ พบว่าทั้งสองภาพมีลักษณะคล้ายคลึงกัน”
อย่างไรก็ตาม เพื่อความชัดเจนต้องให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบเรือลำดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง เขากล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ในขณะที่ สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากวันเวลาในภาพถ่ายดาวเทียม และลักษณะคราบน้ำมันที่เห็น มีความเป็นไปได้สูงที่คราบน้ำมันที่ถูกปล่อยจากเรือดังกล่าวจะเป็นต้นตอเหตุคราบน้ำมันรั่วในหลายจังหวัดริมฝั่งทะเลอันดามัน
“ตามปกติแล้วคราบน้ำมันในทะเลจะใช้เวลาราว 20 วัน กว่าจะฟอร์มตัวเป็นก้อนน้ำมันดินและถูกคลื่นพัดพาซัดเข้าฝั่ง อย่างไรก็ตามการติดตามหาตัวผู้กระทำผิดน่าจะทำได้ยาก เพราะภาพถ่ายดาวเทียมไม่ละเอียดพอที่จะระบุว่าเรือที่ลักลอบปล่อยคราบน้ำมันเป็นเรือของใคร ชนิดใด” สนธิ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เขาแนะนำว่า หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำงานร่วมมือกับกลุ่มประมงในท้องถิ่น เพื่อเป็นหูเป็นตาในพื้นที่คอยสอดส่องพฤติกรรมเรือที่กระทำผิด ซึ่งเป็นรูปแบบการเฝ้าระวังการลักลอบปล่อยน้ำมันลงทะเลที่ชาวประมงพื้นบ้านในภาคตะวันออกทำงานร่วมกับภาครัฐ
สนธิ กล่าวว่า หากสามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้อย่างคาหนังคาเขา ผู้กระทำผิดลักลอบปล่อยน้ำมันลงทะเลจะต้องได้รับโทษตามประมวลกฎหมายของกรมเจ้าท่า ต้องจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี และโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท
ด้านโฆษกกองทัพเรือ พลเรือเอกปกครอง มนธาตุผลิน เปิดเผยว่า กองทัพเรือได้รับข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมดังกล่าวแล้ว และกำลังตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามตัวผู้กระทำผิดลักลอบปล่อยน้ำมันลงทะเลมาดำเนินคดีต่อไป
นอกจากนี้ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews รายงานเพิ่มเติมว่า ผลกระทบคราบน้ำมันและก้อนน้ำมันดินปนเปื้อนชายหาด ยังลามไปกระทบถึงอ่าวมาหยา บนเกาะพีพีเล และเกาะพีพีดอน ใน จ.กระบี่ แล้ว โดยพบว่ามีก้อนน้ำมัน และคราบน้ำมันลักษณะสีดำถูกพัดขึ้นมาจากทะเล บางส่วนเกาะติดกับขยะทะเลลอยขึ้นมากองกระจายอยู่ตามชายหาด อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบจำนวนไม่มาก และไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากอยู่ระหว่างปิดการท่องเที่ยวที่อ่าวมาหยา
ในขณะที่ยังพบว่ามีเต่าทะเลถูกน้ำมันลอยมาเกยฝั่งเป็นตัวที่ 15 แล้ว