svasdssvasds

ต้องรู้จัก ถึงรักเสือ คุยกับคนหลังบ้านเพจตามติดชีวิตเสือโคร่งป่าตะวันตก

ต้องรู้จัก ถึงรักเสือ คุยกับคนหลังบ้านเพจตามติดชีวิตเสือโคร่งป่าตะวันตก

สัมภาษณ์พิเศษแอดมินแฟนเพจ Thailand Tiger Project DNP เปิดเบื้องหลังแนวคิดเพจตามติดชีวิตเสือที่แมสที่สุด ณ เวลานี้

ถ้าพูดถึงเพจเฟสบุ๊คเกี่ยวกับสัตว์ป่าในไทย หนึ่งในรายชื่อแรกๆ ที่คนทั่วไปจะนึกถึงนั่นก็คือ เพจ Thailand Tiger Project DNP เพจเล่าเรื่องเสือและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเสือ จากงานวิจัยเสือโคร่งในพื้นที่มรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ - ห้วยขาแข้ง และกลุ่มป่าตะวันตก ที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักในแวดวงสังคมออนไลน์ จากการสื่อสารเรื่องราวชีวิตของเหล่าบรรดาเสือโคร่งในพื้นที่ป่าตะวันตก ด้วยภาษาที่สนุกและเข้าใจง่าย บวกกับรูปถ่ายและคลิปน่ารักๆ ของเหล่าบรรดาเสือโคร่ง ที่นอกจากจะทำให้คนรู้จักและเข้าใจเสือมากขึ้น ยังจูงใจให้หลายๆ คน ตกเป็นแม่ยกแฟนคลับของเหล่าบรรดาเสือไปโดยปริยาย

เนื่องในวันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก 29 กรกฎาคม สปริงนิวส์ได้ถือโอกาสสัมภาษณ์ แอดมินเพจ Thailand Tiger Project DNP บุคคลเบื้องหลังที่ถ่ายทอดชีวิตและเรื่องราวของเหล่าบรรดาเสือโคร่งจากป่าห้วยขาแข้ง ให้บรรดาแฟนๆ ในโลกออนไลน์ได้ติดตาม

 

Q: เพจ Thailand Tiger Project DNP มีที่มาอย่างไรครับ

A: มาจากความคิดนักวิจัยที่ทำงานวิจัยมานานแสนนาน ผ่านมาหลายปีก็ยังเจอกับความคิดเดิมๆของคนไทยหนึ่งซึ่งจัดเป็นส่วนมากก็ได้ ที่คิดว่า เสือโคร่งมันน่ากลัว เสือโคร่งเป็นต้นเหตุของการสูญพันธุ์ ถ้าหากยังก้มหน้าก้มตาวิจัยต่อไปเรื่อยๆ จนทั่วโลกเค้ารู้หมดละ แต่คนไทยยังจมอยู่นี่ ก็ว่าจะเช่าที่ปลูกท้อแทนการวิจัย จึงต้องหาช่องทางสร้างความเข้าใจ ก่อนที่มันสายไปกว่านี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

Q: ผมชอบแนวทางการทำเพจของ Thailand Tiger Project มากเลยครับ เพราะมีน้ำเสียงที่เป็นกันเอง มีเอกลักษณ์ นำเสนอเรื่องราวเสือให้ดูน่ารักและเข้าถึงคน ทำไมถึงเลือกแนวทางการนำเสนอแบบนี้

A: เอาจริงคือ เราวาง concept ให้มันเรื่องของวิทยาศาสตร์หรืองานวิจัย ที่คนทั่วไปเข้าถึง เข้าใจ ได้ โดยไม่ต้องไปเปิดพจนานุกรมหาความหมาย หรือ หลังอ่านแล้วสตั้น สิบวิ เพื่อทบทวนความรู้ที่ตนเองเคยรู้มา หรือ ต้องปรึกษา อากู๋ ต่อ ว่า มันคือไรอะ/ ที่สำคัญนะ ถ้าเข้าเพจมาแล้วไม่เครียด มันก็น่าจะดีกว่ามั้ย

 

Q: เสือที่เราตามดูแลและได้ปรากฎเป็นดาวในเพจ เป็นเสือกลุ่มไหนครับ มีกี่ตัว

A: เสือที่ได้มีการติดตามวิจัยมีทั้งทุ่งใหญ่ตะวันออกและห้วยขาแข้ง แต่หลักๆเลยวิจัยต่อเนื่องที่ห้วยขาแข้ง แหล่งเสือโคร่งอินโดจีน ที่สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การติดตามประชากรรายปี ประเมินว่ามีเสือโคร่งอาศัยอยู่ไม่เกิน100ตัว ซึ่งจัดว่ามากกว่าป่าอนุรักษ์อื่นๆ

ถ้าวัดความเด่นจากความสนใจของ เอฟซี ก็น่าจะเป็น ธนากร วิจิตร อุทิศ อภิญญา มั๊ง แต่ จริงแล้วความเด่นก็มักจะขึ้นอยู่กับเรื่องราวที่นำเสนอออกไป เช่น วิจิตร นี่ เป็นตัวสำคัญที่ทำให้คนไทยกันมาสนใจเสือโคร่ง เพราะมันดันไปวิ่งตัดหน้ารถสิบล้อ จนเป็นข่าวใหญ่ (ขอบคุณรถสิบล้อที่เกิดเหตุด้วย) ประกอบกับคนไทยจิตใจ อ่อนไหว เมตตาสูง ก็คอยตามลุ้นว่ามันจะรอดตายมั้ย จนกลายเป็นเรื่องราวการเดินทางออกหาบ้านและคู่ชีวิต โดยใช้ข้อมูลจากการวิจัยเป็นสาระบอกเล่า ทำให้คน อินจัด เลยหลงรักวิจิตรกันเป็นแถว แต่สำหรับเฮียธนา ก็ใช่ย่อยแม่ยกเค้าเยอะ ด้วยว่าคาร์แรคเตอร์หล่อ เปย์ สาวๆไทยติดตรึม น้ำตาซึมเปียกหมอนเมื่อเฮียลากลับดาวเสือ

ต้องรู้จัก ถึงรักเสือ คุยกับคนหลังบ้านเพจตามติดชีวิตเสือโคร่งป่าตะวันตก

Q: อะไรคือสเน่ห์ของบรรดาเสือๆ ครับ

A: อืม ถามแอด มันจะตอบแบบลำเอียงมั้ย เพราะซี้กันมาก เสือๆที่ได้รู้จักเทียบกับคนเรา ทุกตัวก็จะมีความเป็นตัวเองในบางมุมที่กลายเป็นเสน่ห์ที่ต้องติดตาม ที่แน่ๆเสือทุกตัวอ่อนโยน ไม่ได้ก้าวร้าวแบบในความคิดของคนส่วนใหญ่ เสือมีการเรียนรู้และสะสมเป็นประสบการณ์อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการที่ต้องค้นหาและทำความรู้จักมัน คงเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้นักวิจัยต้องเข้าหามันอยู่เรื่อย

 

Q: จากที่แอดติดตามชีวิตเสือมาตลอด ได้เรียนรู้อะไรจากเสือบ้างครับ

A: สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้แน่ คือรู้จักอดทน รอคอย เพราะเสือไม่ใช่สัตว์ที่ใช้พลังงานไปกับการไล่ล่าเหยื่อเพื่อเป็นอาหารแต่เป็นการซุ่มรอให้ถูกที่และจังหวะเวลา แล้วสัตว์ที่เป็นเหยื่อก็จะมามอบตัวเอง อีกเรื่องที่โดนจิตทัชใจมากคือเรื่องของความผูกพันภายในครอบครัว ที่คนนึกไม่ถึงว่าจะมีในสัตว์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ล่าต้องฆ่าก่อนกิน ลูกสาวมีการแบ่งปันและดูแลแม่เสือที่ชรา น้องมีความเป็นห่วงพี่ รวมถึงความเอื้ออาทรกันเองภายในสายพันธุ์ ที่ครั้งหนึ่งเคยได้เห็นว่าแม่เอื้องอนุญาตให้ลูกเสือตัวอื่นร่วมกินซากด้วย ซึ่งบางทีคนควรเอาตัวอย่างเพื่อเปลี่ยนมุมมองความคิดต่างคนต่างอยู่ในปัจจุบัน

 

Q: จากที่แอดติดตามเสือป่าตะวันตกมา แนวโน้มสถานะภาพเสือ เป็นอย่างไรบ้างครับ

A: น่าชื่นใจสุด เพราะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะไม่ปรู๊ดปร๊าดราวติดจรวด แต่ก็ถือเป็นนัยยะดีในเรื่องของการสอดส่องดูแล ป้องกันพื้นที่ ที่ช่วยให้เสือโคร่งได้มีโอกาสอยู่รอดในป่ามากขึ้น เพราะศัตรูสำคัญของเสือโคร่งหาใช่ใครไหน ก็ คน นี่ล่ะ

ลูกเสือวัยรุ่นหนึ่งในครอกของแม่เอื้อง ขอบคุณภาพจาก: Thailand Tiger Project DNP

Q: สุดท้ายนี้ มีอะไรอยากจะฝากแฟนๆ ตลอดจนชาวโลกทั้งหลาย เนื่องในวันอนุรักษ์เสือโคร่งโลกครับ

A: อยากให้คนไทยเปลี่ยนความคิดที่ว่า เรื่องของเสือโคร่งเป็นเรื่องไกลตัว คนที่มีหน้าที่ดูแลคือเจ้าหน้าที่รัฐ แท้จริงแล้ว หากคนไทยถวิลหาสภาพธรรมชาติที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตอยู่บนโลกนี้ ไม่ว่า จะเป็น น้ำสะอาด อากาศดี ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล สิ่งเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ซึ่งต้องมีเสือโคร่งทำหน้าที่อยู่ในระบบสายใยอาหารนั้น การร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคนไทยในการดูแลให้มีเสือโคร่งคงอยู่คู่ป่าไทยให้ชาวโลกอิจฉา มันง่ายมาก แค่คนไทยเข้าใจความสำคัญของมัน ไม่คิดกำจัด หรือล่่าเพื่อการใดใด แล้วช่วยกันส่งต่อความเข้าใจ แค่นี้เสือไทยก็ดังก้องไกลทั่วโลก แน่ รับรอง

related