svasdssvasds

กรมอุทยานฯ แจงยิบ "กระทิงตาบอด" ติดเชื้อจากแมลงวันตา ไม่ได้เกิดจากฉี่หมาใน

กรมอุทยานฯ แจงยิบ "กระทิงตาบอด" ติดเชื้อจากแมลงวันตา ไม่ได้เกิดจากฉี่หมาใน

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงสาเหตุกระทิงตาบอดติดเชื้อจากแมลงวันตา ไม่ได้เกิดจากฉี่หมาใน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายอรรถพล  เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยถึงกรณีพบกระทิงตาบอดในหลายพื้นที่ โดยมีสำนักข่าวบางแหล่ง ได้นำเสนอข่าวสันนิษฐานว่าเกิดจากการโดนฉี่หมาใน จนก่อให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าว นั้น

ทั้งนี้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้รับรายงานจากสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ จากการตรวจสอบพบว่าสาเหตุที่ทำให้กระทิงตาบอดในหลายพื้นที่เกิดจากแมลงวันตา หรือ อาย ฟลาย (eye fly) พบแพร่กระจายทั่วไปและระบาดมากในบางพื้นที่ โดยชนิดที่พบในประเทศไทย คือ ไซปันคูลินา ฟูนิโคลา (siphunculina funicola) โดยแมลงชนิดนี้จะเข้ามารุมดูดกินน้ำเลี้ยงจากลูกนัยน์ตา ทำให้ตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล เจ็บตา มีขี้ตามาก และทำให้ตาติดเชื้อโรคที่มากับแมลงชนิดนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้เป็นสาเหตุทำให้ต่อมน้ำเหลืองหลังหูเจ็บและบวม ส่วนใหญ่เกิดที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อนและติดเชื้อลามไปอีกข้างหนึ่ง ทำให้เกิดตาบอดถาวรทั้งสองข้าง  ทั้งนี้การติดเชื้อที่มาจากแมลงวันตานี้เกิดขึ้นได้ในกระทิงทุกเพศ ทุกช่วงอายุ โดยอาจมีปัจจัยความแข็งแรงทางร่างกายและพันธุกรรมเป็นตัวเสริม และยังดูดเลือดและน้ำเหลืองจากบาดแผล ทำให้แผลหายช้า รักษาไม่หายขาด เกิดเป็นแผลเรื้อรังจากการนำเชื้อโรคต่างๆมาสู่แผล นำมาสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้ และบริเวณที่มีเนื้อเยื่ออ่อนๆ เช่น จมูก อวัยวะเพศ นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กระทิงตาบอด

เปิดสาเหตุกระทิงตาบอดติดเชื้อ

สำหรับแมลงชนิดนี้สามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง ฝนทิ้งช่วง และยังนำเชื้อแบคทีเรียหลากหลายชนิดอีกด้วย จากการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2552 โดย ดร.อุรุญากร จันทร์แสง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการศึกษาวิจัย พบแบคทีเรียทั้งหมด 64 ชนิด ซึ่ง 36 ชนิด เป็นแบคทีเรียชนิดที่มีความเสี่ยงในการก่อโรคในระดับที่ 2 ตามประกาศของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ซึ่งแบ่งระดับของแบคทีเรียก่อโรคตามความเสี่ยงออกเป็น 4 ระดับ โดยระดับ 4 เป็นระดับที่เสี่ยงสูงสุดและลดลงมาตามลำดับ แบคทีเรียที่พบในแมลงชนิดนี้อยู่ในระดับที่ 2 เช่น เอนเทอโรค็อกคัส สูโดโมนาส สแต็ปโตค็อกคัส สแต็ปฟิโลค็อกคัส แต่ปัจจุบันด้วยสภาพปัจจัยเรื่องภาวะโลกร้อน หรือ Climate change จึงยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าพบเชื้อแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้นหรือพบไวรัสชนิดใหม่ๆด้วยหรือไม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า สำหรับความกังวลว่าสัตว์ป่าอื่นๆจะมีความเสี่ยงติดเชื้อดังกล่าวหรือไม่นั้น จากข้อมูลที่มีการสังเกตและติดตาม พบว่าสรีระร่างกายและพฤติกรรมของสัตว์แต่ละชนิดมีกลไกป้องกัน เช่น ช้างป่า มีใบหูขนาดใหญ่ สามารถพัดลมไล่แมลงได้ รวมถึงมีงวงที่เป็นจมูกยาวเป่าลมไล่แมลงที่ตาได้ ส่วน เก้ง กวาง นั้นแม้จะมีหูขนาดใหญ่พอที่จะสะบัดลมหรือส่ายหัวไล่แมลงได้เหมือนกันกับวัวและควาย แต่หากเป็นกรณีที่ถูกแมลงรุมจำนวนมากๆ อาจจะพบปัญหาการไล่แมลงออกไปได้ยาก ซึ่งต้องอาศัยนกที่กินแมลงเข้ามาช่วยกำจัด ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าและสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ร่วมกันศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป.

related