รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยความต้องการ ที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศภายในปี 2040 โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นผลิตพลังงานที่เป็นกลางทางคาร์บอนภายในกลางศตวรรษนี้
ผ่านมาสิบสามปีแล้ว หลังเกิดเหตุภัยพิบัติฟุกุชิมะในปี 2011 ญี่ปุ่นยังคงยืนยันอีกว่า 'พลังงานนิวเคลียร์' ยังคงมีความสำคัญ ในการช่วยให้ญี่ปุ่นตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีและไมโครชิป
ขณะที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวได้ออกมาโจมตีว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกแห่งนี้ มีการใช้พลังงานสกปรกมากที่สุดในกลุ่มบรรดาประเทศ G7 โดยเชื้อเพลิงฟอสซิลคิดเป็นเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตพลังงานทั้งหมดในปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดเป้าหมายใหม่แล้วว่า จะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 46 เปอร์เซ็นต์ เทียบจากระดับในปี 2013 ภายในปี 2030
ภายใต้แผนใหม่นี้ คาดว่าพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม จะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า 40 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2040 ซึ่งนับเป็นการก้าวกระโดดจากเป้าเดิมที่ระดับ 23 เปอร์เซ็นต์ของปีที่แล้ว และเป้าหมายก่อนหน้าสำหรับปี 2030 ที่ 38 เปอร์เซ็นต์
ที่ผ่านมาความต้องการพลังงานของญี่ปุ่นเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ในปี 2566 ได้รับการตอบสนองจากโรงไฟฟ้าที่เผาถ่านหิน แก๊ส และน้ำมัน โดยเกือบทั้งหมดต้องนำเข้า ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นต้องสูญเสียเงินประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน ทำให้การจัดหาแหล่งพลังงานสะอาด มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมยังมองว่า แผนดังกล่าวยังมีเป้าหมายที่เล็กและสายเกินไป พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลมีความทะเยอทะยานให้มากกว่านี้ในเรื่องพลังงานหมุนเวียน เพราะหากรัฐบาลออกนโยบายสนับสนุนอย่างจริงจัง พลังงานหมุนเวียนอาจขยายตัวไปครอบคลุม 60 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตไฟฟ้าของญี่ปุ่นในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2030 ได้เลย