svasdssvasds

เอกชนรายใหญ่ชิงขายไฟ "พลังงานสะอาด"รอบ2 หลัง กกพ.รับซื้อ 2.1 พันเมกะวัตต์

เอกชนรายใหญ่ชิงขายไฟ "พลังงานสะอาด"รอบ2 หลัง กกพ.รับซื้อ 2.1 พันเมกะวัตต์

“เอกชน” ชิงขายไฟฟ้สะอาดรอบ 2 หลัง กกพ.รับซื้อ 2.1 พันเมกะวัตต์ “กัลฟ์” - “เอ็กโก” -“บาฟส์” “ราชกรุ๊ป” โชว์ความพร้อมเต็มสูบ ร่วมประมูลรอบ 2 กกพ.เผยส่วนที่เหลืออีก 1.5 พันเมกะวัตต์ รอบอร์ดชุดใหม่อนุมัติรับซื้อ

SHORT CUT

  • ต้องยอมรับว่าทั่วโลกต้องการพลังงานสะอาด เพราะเทรนด์โลกเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ ในส่วนของประเทศไทยเองก็พยายามหันมาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น
  • ก่อนหน้านี้มีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายใต้ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573
  • ทั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้ผลิตไฟฟ้าอย่างมาก เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนตามเทรนด์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งเป้าหมายสู่ Net Zero

“เอกชน” ชิงขายไฟฟ้สะอาดรอบ 2 หลัง กกพ.รับซื้อ 2.1 พันเมกะวัตต์ “กัลฟ์” - “เอ็กโก” -“บาฟส์” “ราชกรุ๊ป” โชว์ความพร้อมเต็มสูบ ร่วมประมูลรอบ 2 กกพ.เผยส่วนที่เหลืออีก 1.5 พันเมกะวัตต์ รอบอร์ดชุดใหม่อนุมัติรับซื้อ

นาทีนี้ต้องบอกได้คำเดียวว่าทั่วโลกต้องการพลังงานสะอาด เพราะเทรนด์โลกเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ ในส่วนของประเทศไทยเองก็พยายามหันมาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้มีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายใต้ของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 ได้รับความสนใจจากผู้ผลิตไฟฟ้าอย่างมาก เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนตามเทรนด์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งเป้าหมายสู่ Net Zero

โดยการประกาศรับซื้อรอบแรก 5,000 เมกะวัตต์ มีผู้สนใจยื่นขายไฟฟ้าถึง 15,000 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ภาครัฐประกาศรับซื้อเพิ่มอีก 3,000 เมกะวัตต์ โดยการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดรอบล่าสุดประกาศไป 2,100 เมกะวัตต์ ยังเหลืออีกบางส่วนที่รอประกาศเพิ่ม

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ.เปิดเผยว่า สำนักงาน กกพ.กำหนดรายละเอียดการเพื่อประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายใต้ประกาศ กกพ.เรื่องรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 (เพิ่มเติม) ได้กำหนดให้เงื่อนไขและระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้าวันที่ 8 ต.ค.2567 โดยการไฟฟ้าประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการ กรอบเวลา 7 วัน จากนั้นสำนักงาน กกพ.ประกาศรายชื่อภายใน 30 วัน และจะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 180 วัน

อย่างไรก็ตาม กกพ.ได้มีการกำหนดเงื่อนไขให้สิทธิ์กลุ่มที่เคยยื่นข้อเสนอผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินภายใต้โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ FiT ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงจำนวน 198 ราย รวมปริมาณรับซื้อไฟฟ้า 5,203 เมกะวัตต์  ที่ได้ผ่านเกณฑ์พร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) และได้รับประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ภายใต้โครงการแต่ไม่ได้รับการคัดเลือกในโครงการดังกล่าว เนื่องจากการจัดหาไฟฟ้าได้ครบตามเป้าหมายแล้วสำหรับการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมดังกล่าวรวม 2,180 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานลมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ เป็นลำดับแรก และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์

พามาดูความเคลื่อนไหวของบริษัทเอกชนรายใหญ่ กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ พร้อมยื่นเสนอขายไฟสะอาดรอบ 2 ของสำนักงาน กกพ.โดยคาดว่าจะได้รับโครงการไม่ต่ำกว่า 20% ของจำนวนที่เปิดรับซื้อ โดยเบื้องต้นอาจร่วมมือกับพันธมิตร สำหรับการเปิดรับซื้อไฟสะอาดเฟส 2 กัลฟ์พร้อมเข้าร่วมยื่นเสนอขายด้วยอย่างเต็มที่เช่นกัน

ทั้งนี้การเปิดรับรอบแรก 5,000 เมกะวัตต์ กัลฟ์เป็นผู้ชนะราว 3,000 เมกะวัตต์ โดยภาพรวมรายได้จะเริ่มเห็นในช่วงปีหน้าเป็นต้นไป ส่วนแผนลงทุน 5 ปีวางไว้อยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน 80% หรือที่ระดับ 7.5 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันกำลังการผลิตรวมกลุ่มกัลฟ์ที่ COD ไปแล้วอยู่ที่ 1.4 หมื่นเมกะวัตต์ โดยหากรวมกำลังการผลิตในต่างประเทศด้วยจะมีอยู่ที่รวม 2.3 หมื่นเมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน 8% และตั้งเป้าหมายปี 2033 จะเพิ่มเป็น 36%

ด้าน หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS กล่าวว่า กลุ่มบาฟส์มีธุรกิจโรงไฟฟ้าาว 40 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่ม โดยพร้อมยื่นขอรับสิทธิขายไฟสะอาดเฟส 2 จากสำนักงาน กกพ.แน่นอน โดยจะร่วมมือกับพันธมิตร

ขณะที่ น.ส.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group เปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายระยะสั้นเป็นการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2573 ผ่านการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานสะอาดทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการลงทุนในประเทศ EGCO Group พร้อมนำโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินกว่า 10 โครงการ ที่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) จากโครงการ RE Big Lot รอบที่ 1 แต่ยังไม่ได้คัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการ RE Big Lot ในรอบที่ 2

ปิดท้ายที่ นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราชกรุ๊ป มีความสนใจที่จะร่วมยื่นขายไฟจากพลังงานหมุนเวียนรอบ 2 ของ สำนักงาน กกพ.เช่นเดียวกัน โดยหากเศรษฐกิจดีจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น จึงขอให้รัฐบาลเร่งใช้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2024) ที่รองรับความต้องการใช้พลังงานสะอาดเพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต

นอกจากนี้มีรายงานข่าวจาก กระทรวงพลังงาน ว่า การเปิดรับซื้อพลังงานหมุนเวียนรอบ 2 รวม 3,668 เมกะวัตต์ แม้สำนักงาน กกพ.อนุมัติกรอบเวลาการรับซื้อไว้แล้ว แต่ยังเหลือไฟสะอาดอีก 1,500 เมกะวัตต์ ที่จะต้องรอคณะกรรมการ กกพ.ชุดใหม่มาบริหารงานตามนโยบายต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related