ปัจจุบันโรงไฟฟ้า มีการผลิตจากพลังงานทดแทนมากขึ้น หนึ่งในนั้น คือ อ้อย ที่สามารถใช้ในการผลิตพลังงานทดแทนได้ จะพาเปิดวามสำคัญ “อ้อย” พืชพลังงานทดแทน แต่...การลักลอบเผาก็ทำให้เกิด PM 2.5 ในปริมาณที่สูงขึ้นในปัจจุบัน
อ้อย คือ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยที่สามารถใช้ในการผลิตน้ำตาล และอื่นๆอีกมากมาย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รายงานสถานการณ์การปลูกอ้อยปีการผลิต 2564/65ไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยมีพื้นที่รวมทั้งสิ้นจำนวน 11,022,348 ไร่ เพิ่มขึ้นจำนวน 159,738 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.47 จากปีก่อนหน้า
ส่วนประโยชน์ของอ้อย มีอะไรบ้าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า อ้อยสามารถผลิตน้ำตาลได้ และ กากน้ำตาล นำไปผลิตเอทานอล แอลกอฮอล์ ผงชูรส ซอส น้ำส้มสายชู อาหารสัตว์ และได้กากชานอ้อยนำมาผลิตเยื่อกระดาษ บรรจุภัณฑ์จานชาม แผ่นไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ และใช้มากที่สุดคือเป็นเชื้อเพลิงผลิตไอน้ำในขั้นตอนผลิตน้ำตาล และใช้ในโรงไฟฟ้า โดยชานอ้อยสามารถผลิตไฟฟ้าให้คนเราใช้ไฟฟ้าจากกระบวนการผลิตของอ้อยได้เช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ส่องรายได้ - กำไร Q1ปี’66 บริษัทโรงไฟฟ้าในตลาดหุ้น หุ้นพลังงาน ใครปัง !
รู้จัก ! โรงไฟฟ้าไฮโดรเจน –โคเจนฯ ทางเลือกธุรกิจพลังาน ป้อนไฟฟ้าเข้าระบบ
GULF ยืนหนึ่งธุรกิจโรงไฟฟ้า อาณาจักรมูลค่าหลักทรัพย์กว่า 5.6 แสนล้าน
ชานอ้อย ผลิตก๊าซไฮโดรเจน - มีเทน ดูดซึมด้วยสารละลาย NaOH
ทั้งนี้หากโฟกัสเฉพาะด้านการใช้ประโยชน์ด้านพลังงาน คือ การใช้ประโยชน์ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพ โดยผศ.ดร.ประไพพิศ ชัยรัตนมโนกร อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาหาแนวทางใช้ประโยชน์ชานอ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิตแก๊สมีเทนอย่างต่อเนื่องโดยวิธีการหมักแบบสองขั้นตอน โดยในขั้นต้นเป็นการผลิตแก๊สไฮโดรเจน และขั้นตอนที่สองจึงได้แก๊สมีเทน
โดยผลวิจัย พบว่า เมื่อพิจารณาค่าพลังงานจากแก๊สไฮโดรเจนและมีเทนจากการหมักทั้งสองขั้นตอน ได้ผลผลิตพลังงานสูงสุดที่ 8102.45 กิโลจูลต่อการหมักชานอ้อย 1 กิโลกรัม ทั้งนี้ความเข้มข้นของแก๊สที่สนใจได้แก่ แก๊สไฮโดรเจนและมีเทน สามารถเพิ่มขึ้นได้เมื่อบำบัดแก๊สชีวภาพด้วยกระบวนการดูดซึมด้วยสารละลาย NaOH
ขณะที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เผยว่า อ้อยนับเป็นแหล่งพืชพลังงานทดแทนที่สำคัญชนิดหนึ่ง ประเทศไทยจึงมีแหล่งพลังงานจากธรรมชาติประเภทที่สร้างทดแทนใหม่ได้เป็นประจำทุกปี โดยชานอ้อยเป็นแหล่งให้พลังงานสำคัญของการผลิตน้ำตาลในโรงงานน้ำตาลทั้งสำหรับผลิตพลังงานความร้อน และพลังงานไฟฟ้าเพื่อการผลิตน้ำตาลรวมทั้งเพื่อส่งขายในเชิงพาณิชย์ควบคู่กันไป อัตราส่วนชานอ้อยต่อการผลิตไฟฟ้า (Heat Rate) จึงเป็นดัชนีที่สำคัญสำหรับการบริหารจัดการการใช้ชานอ้อยให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
แผนพลังงานแห่งชาติ ดันพลังงานทดแทน - พลังงานทางเลือก
อย่างไรก็ตามอ้อยนับว่าเป็นพืชพลังงานทดแทนตามแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (แผน PDP215) ซึ่งมีแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan:ADEP) ให้มีการกำลังผลิตติดตั้งในการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ที่ 5,570 เมกะวัตต์ (MW) ในปี พ.ศ. 2579 ซึ่งประเทศไทยมีชานอ้อยเป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่สามารถสร้างหรือปลูกทดแทนได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ตามวงจรชีวิตของการปลูกอ้อย อ้อยเป็นพืชพลังงานที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ตลอดช่วงอายุขัย เมื่ออ้อยถูกส่งเข้าสู่โรงงานน้ำตาล ได้ผลผลิตเป็นน้ำตาลและชานอ้อย
โดยโรงงานน้ำตาลนำชานอ้อยไปผลิตพลังงานเพื่อใช้เองและจะส่งออกขายได้เมื่อเหลือใช้ โรงงานน้ำตาลจึงนับเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและเบ็ดเสร็จในด้านพลังงาน แม้เทคโนโลยีการผลิตไอน้ำและไฟฟ้าที่มีอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันยังใช้ประโยชน์จากชานอ้อยได้ไม่เต็มที่นัก แนวทางพัฒนา คือ ต้องทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยคุณลักษณะในการผลิตไฟฟ้าของโรงงานน้ำตาลอย่างละเอียด ท่องแท้และลึกซึ้ง อ้อยก็จะเป็นพืชพลังงานตัวอย่าง (Model) ที่จะใช้เป็นแนวทางการพึ่งพาพลังงานจากชีวมวลได้ด้วยตนเองของประเทศไทยในอนาคต
เปิดสถิติเผาลักลอบเผาอ้อยทวีความรุนแรงขึ้น สร้างปัญหาPM 2.5
อ้อย ถึงแม้ว่าจะเป็นพืชที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลังงานทดแทน แต่…อ้อยก็มีการลักลอบเผาจึงก่อให้เกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 โดย นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ได้เร่งเดินหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาอ้อย ที่ประชุมให้การพิจารณาวาระสำคัญอย่างแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ดูแลพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโดยไม่มีการเผาอ้อย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ซึ่งภาครัฐพร้อมหาแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยมีส่วนช่วยในการดูแลสุขภาพของประชาชน ชุมชนใกล้เคียง และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
จากสถิติที่ผ่านมาฤดูการผลิตปี 2563/2564 มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 17.61 ล้านตัน คิดเป็น 26.42% จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด 66.66 ล้านตัน ฤดูการผลิตปี 2564/2565 มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 25.12 ล้านตัน คิดเป็น 27.28% จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด 92.07 ล้านตัน และฤดูการผลิตปี 2565/2566 พบว่า มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผาสูงถึง 30.78 ล้านตัน คิดเป็น 32.78% จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด 93.89 ล้านตัน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าที่ระบุในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ
“การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” พ.ศ. 2562 - 2567 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ซึ่งมีแนวทางการควบคุมและลดมลพิษจากการเผาในที่โล่ง/ภาคการเกษตรในการกำหนดมาตรการทางกฎหมาย โดยการออกระเบียบกำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 20% ต่อวัน ภายในปี 2564 และให้อ้อยไฟไหม้หมดไปภายในปี 2566 ซึ่งการเผาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2565/2566 คิดเป็นพื้นที่ที่เกิดการลักลอบเผาประมาณ 3.08 ล้านไร่”
จากตัวเลขการลักลอบเผาอ้อย 3 ปีฤดูการผลิตที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการในการจัดการกับปัญหาการลักลอบเผาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอรับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดให้กับชาวไร่อ้อยที่ผ่านมา ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการจัดการกับปัญหาการลักลอบเผาอ้อยที่เกิดขึ้น และไม่เกิดความคุ้มค่าต่อการดำเนินการดังกล่าว อีกทั้งกระบวนการป้องปรามของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอาจยังไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงได้มีการทบทวนมาตรการและกลไกการบูรณาการที่อาจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว และสามารถส่งเสริมเกษตรกรให้มีการตัดอ้อยสด ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบที่ถูกกฎหมายอย่างแท้จริง และไม่เป็นภาระงบประมาณ
นายภานุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังรับทราบถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เกิดจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ทั้งนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเติบโตอย่างยั่งยืน มีวัตถุดิบจากอ้อยสดคุณภาพดี และผ่านกระบวนการผลิตที่ได้รับมาตรฐาน ถูกกฎหมาย และไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสิ่งแวดล้อม