สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เผย 4 เดือนแรกของปี 2566 ยอดใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มร้อยละ 3.8 จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น รวมถึงมีการผ่อนคลายที่มากขึ้น
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงานในช่วง 4 เดือนของปี 2566 พบว่าการใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 โดยเพิ่มขึ้นมาจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูป ร้อยละ 3.8 ผลมาจากการเดินทางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้น้ำมันเครื่องบินที่เพิ่มถึง ร้อยละ 89.1 และน้ำมันเบนซิน ร้อยละ 6.2 ในขณะที่พลังงานอื่นๆ มีการใช้ลดลง โดยการใช้ลิกไนต์/ถ่านหินในภาคอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 8.9 ซึ่งสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 สรุปได้ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จ่อลดชนิดน้ำมันเหลือ 'น้ำมันดีเซล-แก๊สโซฮอล์' หนุนสังคมคาร์บอนต่ำ
กองทุนน้ำมันฯ ชี้มีแนวทางการดูแลค่าการตลาดน้ำมันฯ ที่เหมาะสม
พาชมความคืบหน้า ! โครงการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ อุตฯการบิน
โดยการใช้น้ำมันสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเบนซิน LPG (ไม่รวมที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี) และน้ำมันเตา ร้อยละ 89.1 6.2 2.8 และ 2.4 ตามลำดับ ส่วนการใช้น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล ลดลงร้อยละ 34.2 และ 3.4 ตามลำดับ โดยการใช้น้ำมันดีเซลลดลงร้อยละ 3.4 อยู่ที่ระดับ 75 ล้านลิตรต่อวัน การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 อยู่ที่ระดับ 31 ล้านลิตรต่อวัน สำหรับการใช้น้ำมันเครื่องบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 88.8 อยู่ที่ระดับ 14 ล้านลิตรต่อวัน ด้านน้ำมันเตา เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 อยู่ที่ระดับ 6 ล้านลิตรต่อวัน
ส่วนการใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน ลดลง ร้อยละ 3.0 อยู่ที่ระดับ 17.4 พันตันต่อวัน โดยการใช้ LPG เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็น ร้อยละ 41 มีการใช้ลดลง ร้อยละ 12.7 รองลงมาภาคครัวเรือนซึ่งมีสัดส่วนการใช้คิดเป็น ร้อยละ 33 มีการใช้ลดลง ร้อยละ 1.1 ภาคขนส่งมีสัดส่วนร้อยละ 14 มีการใช้ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.6 ภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วน ร้อยละ 11 มีการใช้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ในขณะที่การใช้เอง ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 1 มีการใช้ เพิ่มขึ้น/ลดลง ร้อยละ 43.2
ส่วนก๊าซธรรมชาติ และก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) ลดลงร้อยละ 3.8 อยู่ที่ระดับ 4,208 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยลดลงจากการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าในโรงงาน และการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ 13.1 2.0 และ 1.3 ตามลำดับ ในขณะที่การใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3
ด้านการใช้ ถ่านหิน/ลิกไนต์ ลดลงร้อยละ 2.9 อยู่ที่ระดับ 5,265 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (KTOE) จากการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงร้อยละ 8.9 และการใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 โดยสัดส่วนการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ในประเทศไทยอยู่ที่ 80/20 ซึ่งร้อยละ 51 ของการใช้ถ่านหินอยู่ในภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ร้อยละ 96 ของการใช้ลิกไนต์เป็นการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ขณะที่การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 มีการใช้รวมทั้งสิ้น 64,285 กิกะวัตต์ชั่วโมง โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในภาคธุรกิจ และอื่นๆ สอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศที่ดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยว ในขณะที่ภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้าลดลง ปัจจัยจากการผลิตเพื่อการส่งออกลดลง ส่วนการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 3.7 และการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือน ลดลงร้อยละ 0.4 ทั้งนี้ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของระบบ 3 การไฟฟ้าของปี 2566 (ในรอบ 4 เดือนแรกของปี 2566) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 เวลา 14:28 น. อยู่ที่ระดับ 33,623 เมกะวัตต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้าของปีก่อน
นายวัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. 64 – มิ.ย. 66) พบว่า ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ อยู่ในระดับ 77.45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซิน อยู่ในระดับ 93.64 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซล อยู่ในระดับ 94.17 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทั้งนี้ คาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันช่วงครึ่งปีหลัง 2566 ว่า ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ จะอยู่ระหว่าง 81-87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซิน จะอยู่ระหว่าง 96-105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซล จะอยู่ระหว่าง 91-98 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ทั้งนี้สนพ. อยู่ระหว่าง ศึกษาโครงการทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อรองรับน้ำมันที่มีคุณภาพตามมาตรฐานยูโร 5 ซึ่ง สนพ. คาดว่า โครงการทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงฯ จะทำให้เกิด “โครงสร้างราคา” ที่เหมาะสมตามต้นทุนและสถานการณ์ที่เป็นจริงของตลาด เกิดราคาที่เป็นธรรมแก่ผู้ใช้น้ำมัน เกิดการขับเคลื่อนภาคธุรกิจและเศรฐกิจไทย และภาครัฐสามารถกำกับดูแลระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจานี้ สนพ. ยังคงติดตามและบริหารนโยบายพลังงานในช่วงวิกฤติราคาพลังงานอย่างใกล้ชิดเพื่อหาแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติพลังงานในอนาคตต่อไป