ลด “ค่าไฟแพง” ยังเป็นหมันไปก่อน กกต.ตีกลับหนังสือรัฐบาลขออนุมัติงบ 11,112ล้านบาท เหตุเสนอมาไม่มีมติ ครม. ยังดำเนินการไม่ครบถ้วนตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น ประชาชนยังต้องแบกรับค่าไฟแพงต่อไป
จากกรณีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขออนุมัติวงเงิน 11,112 ล้านบาท เพื่อช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชนที่เดือดร้อนจาก “ค่าไฟแพง”นั้น มีรายงาน เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2566 ซึ่งเป็นวันที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือนำส่งหนังสือของกระทรวงพลังงาน ที่ขอให้ กกต. พิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบในการที่คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติใช้งบกลาง 11,112 ล้านบาท เพื่อช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน มายังสำนักงาน กกต. แต่เมื่อสำนักงาน กกต. ตรวจสอบแล้วพบว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไม่ได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบในหลักการจะใช้งบกลาง11,112 ล้านบาท ในการจะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาค่าไฟฟ้าแพง เพื่อขอให้กกต.ให้ความเห็นชอบตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา169 กำหนด
จึงเห็นว่า หนังสือที่ส่งมา ยังดำเนินการไม่ครบถ้วนตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด และได้ส่งหนังสือดังกล่าวกลับไป โดยขณะนี้สำนักงาน กกต.ก็ยังไม่ได้รับหนังสือฉบับใหม่จากทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก่อนหน้านี้ ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2566 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอใช้งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน 2566 วงเงิน 11,112 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 มาตรการ ได้แก่
1.มาตรการต่อเนื่องของกระทรวงพลังงานที่ดำเนินการต่อจากเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย ครอบคลุมผู้ใช้ไฟ 18.36 ล้านครัวเรือน วงเงิน 7,602 ล้านบาท โดยปรับลดค่าเอฟที ในเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 เป็นการช่วยเหลือค่าไฟแบบขั้นบันได ดังนี้
ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า 1-150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าเอฟที 92.04 สตางค์ต่อหน่วย เหลือต้องจ่าย 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนผู้ที่ใช้ไฟฟ้า 151-300 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าเอฟที 67.04 สตางค์ต่อหน่วย เหลือจ่าย 26.39 สตางค์ต่อหน่วย
2.มาตรการช่วยเหลือประชาชนระยะเร่งด่วน เป็นมาตรการช่วยเหลือประชาชนในส่วนของค่าไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น และสภาพภูมิอากาศของไทยสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส หลายพื้นที่ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6% โดยรัฐบาลช่วยเหลือรายละ 150 บาท ในบิลค่าไฟในเดือน พ.ค.เพียงเดือนเดียว สำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน จำนวน 23.40 ล้านราย ใช้งบกลางดำเนินการไม่เกิน 3,510 ล้านบาท