ปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก เป็นวาระที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาปัญหาขยะจากอาหาร (Food Waste) และสิ่งที่เหลือจากภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำขยะเหล่านี้มาสร้างพลังงาน เป็นพลังงานชีวมวลซึ่งใช้ทดแทนพลังงานจากถ่านหิน
พลังงานชีวมวล คืออะไร? เป็นสิ่งที่หลายคนสงสัย พลังงานชีวมวลมาจากไหน มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง เรามีคำตอบ
พลังงานชีวมวล คืออะไร?
พลังงานชีวมวล คือพลังงานที่ผลิตจากวัสดุชีวมวล (Biomass) ซึ่งก็คือขยะจากอาหาร (Food Waste) หรือขยะจากภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นแกลบ ที่ได้จากการสีข้าวเปลือก, ชานอ้อย จากการผลิตน้ำตาล, เศษไม้ จากการแปรรูปไม้, กากปาล์ม จากการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ, ซังข้าวโพด ได้จากการสีข้าวโพดเพื่อนำเมล็ดออก, กาบหรือกะลามะพร้าว, สาหร่าย ที่นำมาสกัดน้ำมันดิบออกจากสาหร่าย ฯลฯ
วัสดุชีวมวลที่เหลือจากการใช้เหล่านี้ จะถูกนำมาผลิตพลังงาน ทั้งรูปแบบการหมัก เผา หรือกรรมวิธีอื่นๆ เช่น เผาเศษไม้เพื่อสร้างความร้อน การหมักมูลสัตว์เพื่อทำให้เกิดก๊าซ และนำความร้อนหรือก๊าซนั้นไปใช้ต่อ
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
Wood Pellets เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด พลังงานใหม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ
ทำความรู้จักเทคโนโลยีเปลี่ยนเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เป็น Biomass
ข้อดี-ข้อเสียของพลังงานชีวมวล?
ส่วนประโยชน์หรือข้อดีของพลังงานจากชีวมวลนั้น คือเป็นอีกหนทางในการลดขยะและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และพลังงานชีวมวลยังเป็นพลังงานหมุนเวียน ที่สามารถใช้วัตถุดิบได้หลากหลายและไม่หมดไปเมื่อเทียบกับพลังงานฟอสซิลหรือถ่านหิน
อีกทั้งพลังงานจากชีวมวลยังมีราคาถูก และสามารถใช้งานในกระบวนการอุตสาหกรรมได้ดี เนื่องจากสามารถใช้ของเสียชีวมวลในการผลิตได้ ขณะเดียวกันก็ช่วยลดปริมาณการฝังกลบขยะอีกด้วย
การผลิตพลังงานจากชีวมวลนั้นจำเป็นต้องใช้พื้นที่มากในการผลิตพลังงาน และ เนื่องจากพลังงานชีวมวลใช้แหล่งพลังงานหลากหลายรูปแบบ อาจทำให้การผลิตพลังงานยังไม่สม่ำเสมอ
ปัจจุบันในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ได้หันมาให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าโดยไม่ทำให้เกิดปัญหาขยะหรือเกิดน้อยที่สุด นำวัตถุดิบที่เหลือหรือขยะจากภาคการเกษตร แปลงมาเป็นวัตถุดิบเพื่อพลังงานหมุนเวียน ตัวอย่างเช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้มีแผนในการนำชีวมวลจากวัตถุดิบในการผลิต เช่น กะลามะพร้าว ซังข้าวโพด นำมาผลิตพลังงานชีวมวล ซึ่งคำนวนค่าใช้จ่ายแล้วมีค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับการใช้ถ่านหิน บวกกับนวัตกรรมเทคโนโลยี AI IoT และระบบอัตโนมัติ ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ที่มา : PTT ExpresSo (Express Solution) / กรุงเทพธุรกิจ