GWM ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง มุ่งขยายตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มเติมโดยยกไทยเป็นฮับของภูมิภาค ซึ่ง เกรท วอลล์ มอเตอร์ ได้ตั้งโรงงานผลิตยานยนต์รุ่นต่างๆ รวมถึงรุ่นฮาวาล เอช 6 ในจังหวัดระยอง
นอกจากนี้รถยนต์ไฮบริด รุ่น Haval H6 ของ GWM ได้รับเลือกเป็นยานพาหนะทางการประจำการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Meeting) ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ อีกด้วย
ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ของจีนรายอื่นๆ เช่น บีวายดี (BYD) โฮซอน ออโต (Hozon Auto) และ ไอเวย์ส (Aiways) ต่างก็กำลังขยายการดำเนินงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคาดว่าตลาดแห่งนี้จะมีความก้าวหน้าใหม่ๆ ที่เปี่ยมด้วยศักยภาพ
แบรนด์รถไฟฟ้าจีนตบเท้าบุกตลาดอาเซียน
โรงงานในไทยของบริษัทเกรท วอลล์ มอเตอร์ส เติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ปีแรกที่ดำเนินการ ทั้งในด้านการผลิต ยอดจำหน่าย และการดำเนินงาน ที่สำคัญคือรถยนต์ของแบรนด์ได้รับการยอมรับและไว้วางใจจากผู้บริโภคชาวไทย อ้างอิงจากคำกล่าวของจางเจียหมิง ประธานฝ่ายปฏิบัติการประจำภูมิภาคอาเซียนของบริษัทฯ ซึ่งมุ่งขยายตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มเติม โดยมีการดำเนินงานในไทยเป็นตัวอย่าง บริษัทฯ ระบุว่าหลังจากลงหลักปักฐานในประเทศไทย บรูไน ลาว และเมียนมาแล้ว จะมุ่งรุกตลาดมาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์
ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของบรรดาแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีน โดยก่อนหน้านี้บีวายดี หนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์พลังงานใหม่ชั้นนำของจีน ได้ลงนามในข้อตกลงการจัดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลพลังงานใหม่กับไซม์ ดาร์บี้ มอเตอร์ส มาเลเซีย (Sime Darby Motors) ในตลาดมาเลเซีย
โฮซอน ออโต เพิ่งเปิดตัวรถยนต์พวงมาลัยขวารุ่น เนตา วี (Neta V) ในตลาดไทยไปไม่นานนี้ ซึ่งถือเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าไฮเทครุ่นแรกที่เข้าสู่ตลาดไทย โดยโฮซอน ออโต ยังได้จดทะเบียนในลาว และดำเนินการในเมียนมาแล้วเช่นกัน โดยบริษัทฯ ระบุว่าจะรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
‘ระบบจัดการพลังงาน’ ตัวช่วยธุรกิจลดต้นทุน การันตีเรื่องประหยัดค่าไฟ
COP 27 : กว่า 150 ประเทศลงนามลดปล่อยมีเทน แต่จีน รัสเซีย ตีบทนิ่ง
สรุปการประชุม APEC CEO Summit 2022 วันที่ 17 พ.ย. เน้นเอกชนร่วมมือยั่งยืน
มุ่งผลิตด้วยชิ้นส่วนและแรงงานในท้องถิ่น (Localization)
จุดเด่นสำคัญในการบุกตลาดอาเซียนของรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์คือการมุ่งเพิ่มอัตรา localization อันหมายถึงการใช้พนักงานและชิ้นส่วนที่ที่ผลิตภายในประเทศนั้นๆ อย่างเช่น เกรท วอลล์ มอเตอร์ส หรือ GWM ที่ซื้อโรงงานประกอบรถยนต์ในจังหวัดระยองของไทยจากเจนเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors) บริษัทผลิตรถยนต์สหรัฐอเมริกา และปรับปรุงให้เป็นสายผลิตยานยนต์พลังงานใหม่ ที่มีกำลังการผลิตรถ 80,000 คันต่อปี โดยบรรดาบริษัทจีนยังให้ความสำคัญกับการออกแบบ การวิจัยและพัฒนา (R&D) ยานยนต์พลังงานใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานในท้องถิ่นด้วย
ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนยังส่งเสริมการพัฒนายานยนต์พลังงานใหม่ของท้องถิ่นด้วยการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการชาร์จ เช่น สถานีชาร์จเร็ว “จี-ชาร์จ” (G-Charge) ของเกรท วอลล์ มอเตอร์ส ในกรุงเทพฯ โดยให้บริการชาร์จแบบ 24 ชั่วโมง แก่ผู้ใช้ชาวไทย ขณะที่แบรนด์ไอเวยส์ก็กำลังสร้างเครือข่ายการชาร์จพลังงานในประเทศลาว
อนาคตยังไปได้สวย
ตลาดรถยนต์ของจีนยังคงมีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนก็ถือว่ามีพลวัตมากที่สุดในโลก โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความน่าดึงดูดสำหรับบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าของจีน เนื่องจากเศรษฐกิจค่อนข้างมีเสถียรภาพและมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน
นักวิเคราะห์ในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์คาดว่าตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงมีศักยภาพมาก ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทยที่มีอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมหลัก และมีมาตรการต่างๆ ในการสนับสนุนการบริโภคยานยนต์พลังงานใหม่ ตลอดจนนโยบายที่เอื้ออำนวยด้านภาษี หรืออากร และเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากทั่วโลกให้มาลงทุน
ทั้งนี้ ไทยตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 สัดส่วนการผลิตยานยนต์พลังงานใหม่ของประเทศจะแตะที่ร้อยละ 30 ของยอดผลิตทั้งหมดและ ภายในปี 2035 รถยนต์ที่ผลิตในไทยทั้งหมดจะเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานใหม่