“เอ็นไอเอ” พาชมมิติใหม่ของการย่อยสลายขยะพลาสติก “เครื่องผลิตน้ำมันทางเลือกจากขยะ” ขุมทรัพย์แบล็กโกลด์ของคนในชุมชน เจาะไอเดียซีโร่เวสต์ “ขยะแลกน้ำมัน – น้ำมันจากพลาสติกลิตรละ 11 บาท” มาตรการเพื่อชาติ และชุมชน
“สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” หรือ NIA” หน่วยงานสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม จึงขออาสาพาไปชมผลงานสุดน่าภูมิใจจาก 2 นวัตกร ผู้เห็นคุณค่าของขยะพลาสติก ที่คิดค้นและออกแบบเครื่องกำจัดขยะพลาสติกเป็นน้ำมันไพโรไลซิสสำหรับใช้ในชุมชน จนไม่ต้องง้อน้ำมันดีเซลราคาแพง
คนไทยสายเลือดนักวิทย์ ผู้สร้างเครื่องกำจัดขยะเป็นน้ำมันทางเลือกในชุมชน
ด้วยพื้นฐานที่เป็นคนใส่ใจปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เป็นลูกจ้างในโรงแรมเมื่อ 20 ปีก่อน ที่ได้มีโอกาสเริ่มทำโครงการ Zero waste สร้างระบบแยกขยะ เพื่อลดปริมาณขยะที่จะต้องนำไปกำจัด แต่กลับพบปัญหาขยะพลาสติกจำนวนมากไม่สามารถกำจัดได้ตามธรรมชาติ เป็นแรงจูงใจหลักที่ทำให้ “คุณยุทธการ มากพันธุ์ หรือ คุณเอก ผู้จัดการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ท่ามะขาม” สนใจที่จะเริ่มต้นศึกษาหาข้อมูลและทดลองประดิษฐ์เครื่องผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติกด้วยกระบวนการไพโรไลซิส เพื่อการกำจัดขยะพลาสติกให้เป็นศูนย์ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับชุมชน ชาวบ้าน และเกษตรกรได้ ดังนั้น เครื่องปฏิกรณ์ไพโรไลซิสที่ออกแบบจึงมีขนาดเล็ก เหมาะกับการนำไปใช้ในชุมชน ชาวบ้านสามารถประดิษฐ์ใช้เองได้จากวัสดุเพียงไม่กี่ชิ้น แต่มีความปลอดภัย และใช้งานได้จริง แถมไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
“เครื่องผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติกของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ท่ามะขาม เป็นเครื่องจักรขนาดเล็กที่มีต้นทุนการผลิตที่ไม่แพง ทุกชุมชนสามารถมีไว้ใช้ได้ โดยเอาหัวใจเรื่องของความปลอดภัยและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมาเป็นแกนหลักในการประกอบเป็นเครื่องจักรที่ง่ายต่อการใช้งาน เริ่มจากการนำขยะพลาสติกใส่ลงในถังเหล็กหรือถังปฏิกรณ์สเตนเลสที่มีคุณภาพ ทนทานจากแรงดันและการกัดกร่อนของวัตถุจากนั้นปิดฝาให้สนิท ก็จะเกิดปฏิกิริยาเปลี่ยนของแข็งเป็นของเหลว ก่อนที่จะระเหยเป็นไอเพื่อลำเลียงไปควบแน่นในชุดควบแน่น แล้วกลั่นออกมาเป็นน้ำมันเกรดต่างๆ ทั้งดีเซล เบนซิน และแก๊ส สำหรับใช้ทำความร้อนในตัว ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเป็นไพโรไรซิสแบบไม่มีแรงดัน เน้นเอาของที่เหลือจากการกำจัดเผาทำลายในหัวเบิร์นเนอร์ให้หมด ไม่ให้สารไดออกซินหลงเหลืออยู่ในสภาพแวดล้อม เพื่อป้องกันความปลอดภัย”
สุดว้าว!! น้ำมันจากขยะต้นทุนราคาต่ำ พร้อมช่วยลดปัญหาขยะล้น
แม้น้ำมันที่ได้จากขยะพลาสติกจะสามารถนำไปใช้งานได้จริงทั้งในเครื่องยนต์รอบต่ำสำหรับการเกษตร เตาเผาศพของวัดในชุมชน และเตาน้ำมันให้ความร้อนสำหรับการทอดต้มในโรงงาน ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรและชาวบ้านแล้ว ยังช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่มีอยู่จำนวนมากในชุมชนได้อีกด้วย แต่ที่ผ่านมายังไม่สามารถต่อยอดและนำไปขยายผลในเชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากติดปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมาย และขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ทำให้ทุกวันนี้ยังไม่สามารถซื้อขายได้ เพราะยังมีกำลังการผลิตน้อย ปัญหาของไพโรไลซิส คือ คนลงทุนไม่มีเทคโนโลยีของตัวเอง และไม่มีคนควบคุมที่เข้าใจและชำนาญ ทำให้กระบวนการถูกฟรีซไว้ ทั้งที่ประเทศไทยมีความรู้เรื่องไพโรไลซิสเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ไม่แพ้ประเทศจีน
“วันนี้เราใช้น้ำมันดีเซลทำหลายอย่าง ซึ่งต้องรู้จักจำแนกใช้งานตามความเหมาะสม เครื่องยนต์คูโบต้าความซับซ้อนไม่เยอะสามารถใช้น้ำมันผลิตเองได้ ส่วนรถวิ่งทางไกลก็ซื้อน้ำมันมาเติม เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าของการใช้เชื้อเพลิงที่มีอยู่น้อยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขยะพลาสติก 100 กิโลกรัม ผลิตน้ำมันได้ 80 ลิตร มีต้นทุนในการผลิตอยู่ที่ลิตรละ 11 บาท ถ้าทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุนจะช่วยลดปัญหาของประเทศได้มหาศาล เพราะว่าประเทศไทยโชคดีเราสะสมน้ำมันไว้หลายล้านตันจากพลาสติก
ทั้งนี้ คุณยุทธการ มองว่า การจะทำให้น้ำมันเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะพลาสติกเกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ ต้องมีวิธีการได้มาของน้ำมันที่แตกต่างจากเดิม ไม่ใช่การผลิตน้ำมันเพื่อไปจำหน่ายแข่งกับองค์กรยักษ์ใหญ่ และต้องไม่คิดถึงภาพโรงงานใหญ่ๆ มีรถขยะ เครื่องคัดแยกใหญ่โต เพราะจะกลายเป็นแหล่งมลพิษทำลายสิ่งแวดล้อม ถ้าหากองค์กรใหญ่อยากซื้อ ก็ควรส่งเสริมให้ในชุมชนทำแล้วใช้รถน้ำมันวิ่งไปรับ ทุกคนก็จะมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิต เป็นเจ้าของโรงงานน้ำมันดิบได้เหมือนกัน ไม่ใช่แค่องค์กรใหญ่เจ้าเดียว หาก 1 หมู่บ้านมี 1 เครื่อง ก็จะสามารถผลิตน้ำมันได้ประมาณวันละ 200 ลิตร หนึ่งอำเภอมีหลายร้อยหมู่บ้าน ถือเป็นการเปลี่ยนโลก เกิดการจ้างงาน เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ตอบโจทย์ความก้าวหน้าของประเทศ
ลดวงจรย่อยสลายพลาสติกโฟม จากพันปีสู่ 1 วัน กับการสร้างน้ำมันเพื่อใช้ในโรงงาน
เป็นที่ทราบกันดีว่าขยะมูลฝอยล้นเมือง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทุกพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ดังนั้น การจะเข้าไปแก้ไขปัญหานั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน คุณปราสิทธิ์ พงษ์นุเคราะห์ศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซินฮวดเฮง นวัตกรรม จำกัด หนึ่งองค์กรที่เล็งเห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงทำการศึกษางานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติกผ่านกระบวนการไพโรไลซิส โดยเริ่มจากการทดลองภายในองค์กรถึง 2 ปี กว่าจะสามารถผลิตเครื่องกำจัดขยะที่ย่อยสลายได้ยากอย่างพลาสติกและโฟม จากที่ต้องใช้เวลาย่อยสลายยาวนาน 300 – 1000 ปี ให้เหลือเพียง 1 วัน ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปบริหารจัดการเปลี่ยนขยะเป็นน้ำมันสำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและเครื่องมือการเกษตร
คุณปราสิทธิ์ เล่าว่า กว่าที่องค์กรจะคิดค้นและผลิตนวัตกรรมต้นแบบเครื่องกำจัดขยะพลาสติกและโฟม ประเภทโพลีสไตรีนโฟม หรือ PS เป็นน้ำมันได้ต้องผ่านการลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง จนมีโอกาสได้รู้จักกับ NIA ทำให้ได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญสอนให้รู้จักสร้างความแตกต่าง ปรับไอเดีย และคิดค้นเครื่องผลิตน้ำมันที่ไม่ซ้ำกับท้องตลาด เพื่อไม่ให้เกิดการใช้งานกระจุกตัวอยู่แค่ในวงของภาคอุตสาหกรรมแบบเช่นที่เคยเป็นในอดีต
“เครื่องกำจัดขยะเป็นน้ำมันที่มีขายในท้องตลาดจะผลิตน้ำมันไพโรไลซิสออกมาเป็นน้ำมันดำสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมทั่วไปเท่านั้น นวัตกรรมจึงถูกจำกัดใช้แค่เฉพาะบางพื้นที่ แต่ขยะมีอยู่กระจายทั่วประเทศ ถ้าหากปรับไอเดีย ทำสเกลให้อยู่ในท้องถิ่นได้ คนในพื้นที่ก็จะได้ประโยชน์จากผลลัพธ์การเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน ซึ่งน้ำมันไพโรไลซิสที่ได้จากการทดลองเมื่อผ่านกระบวนการกลั่นก็จะแยกเป็นดีเซล และเบนซินที่มีคุณภาพใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนได้ เราจึงออกแบบเครื่องผลิตใน 1 แทงค์ ให้มี 2 กระบวนการ คือ เปลี่ยนโมเลกุลของขยะพลาสติกและโฟมให้มีขนาดเล็กลงด้วยอุณหภูมิความร้อน 300 – 500 องศาเซลเซียส ในสภาพที่ไร้ออกซิเจน ผลผลิตที่ได้รับ คือ น้ำมันไพโรไลซิสและแก๊สสำหรับวนกลับเข้าไปใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนหมุนเวียนในระบบ ส่วนอีกกระบวนการจะใช้ไพโรไลซิสที่ได้ไปกลั่นโดยอุณหภูมิจุดเดือดจนแยกตัวเป็นดีเซล และเบนซิล ซึ่งจะช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากภายนอกได้ถึง 95%”
ขยะแลกน้ำมัน ไอเดียเพื่อความยั่งยืนของสังคม
เพราะเชื่อว่าสิ่งที่คิดและทำจะมีประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศไทย จึงสร้างและพัฒนาเครื่องจักรให้มีความสมบูรณ์แบบและปลอดภัย พร้อมเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาขยะชุมชน ด้วยการรับออกแบบและผลิตเครื่องกำจัดขยะ 2 ขนาด คือ ขนาด 1.5 ตันขยะต่อวัน และขนาด 4.5 ตันขยะต่อวันให้กับหน่วยงานในระดับพื้นที่ที่มีปัญหาขยะพลาสติกขนาดใหญ่ เพราะเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการผลิตน้ำมัน แต่ด้วยปริมาณขยะเท่าที่มีอยู่ในพื้นที่เมื่อนำมาผ่านกระบวนการควบแน่นในเครื่องกำจัดขยะขนาด 1.5 ตันขยะต่อวัน หรือขยะน้ำหนัก 1500 กิโลกรัม จะได้เป็นน้ำมันไพโรไลซิสประมาณ 1,000 - 1,200 ลิตร ขึ้นอยู่กับประเภทของขยะที่นำมากำจัด ซึ่งหากเทียบสัดส่วนปริมาณน้ำมันไพโรไลซิสที่ได้จากกระบวนการกลั่นในขั้นตอนแรกเป็น 100% เมื่อนำมากลั่นในขั้นตอนที่ 2 จะแยกเป็นน้ำมันดีเซลได้ 65% น้ำมันเบนซิล 15% และกากน้ำมันเตาสำหรับเก็บเป็นเชื้อเพลิงสำรองเพื่อใช้ในกระบวนการกลั่นน้ำมันในรอบทันไป 20% โดยน้ำมันที่ผลิตได้แค่ใช้ในพื้นที่ก็หมดแล้ว จึงไม่มีผลกระทบต่อพลังงานที่ขายตามท้องตลาด ดังนั้น การสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์จึงหมายถึงการกำจัดขยะพลาสติกที่เป็นภาระของประเทศให้เป็นน้ำมันด้วยกระบวนการจัดการที่สมบูรณ์ในพื้นที่ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศได้
“บริษัท ซินฮวดเฮง นวัตกรรม จำกัด มีโครงการให้ชาวบ้านนำขยะมาแลกน้ำมันที่ได้จากการกำจัดขยะไปทดลองใช้ โดยขยะพลาสติกในครัวเรือน 7 กิโลกรัมจะแลกดีเซลสำหรับใช้กับรถรอบต่ำ เช่น รถไถนา รถแทรคเตอร์ได้ 1 ลิตร
ขยะพลาสติก 8 กิโลกรัมจะแลกเบนซินที่ผสมเอทานอลแล้วได้ 1 ลิตร สำหรับนำไปใช้กับมอเตอร์ไซด์ หรือเครื่องตัดหญ้า เครื่องสูบน้ำได้ ทั้งนี้ การที่ประชาชนได้เอาน้ำมันไปใช้ประโยชน์ด้วยวิธีใดก็ตามถือเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง”