ไม่ 'น้ำท่วม' ก็ 'ภัยแล้ง' คือสองภัยพิบัติจากสภาพสอากาศสุดขั้วที่ทั่วโลกจะต้องเผชิญอย่างไม่มีทางเลือก หลังวิกฤตสภาพอากาศได้ส่งผลให้วัฏจักรน้ำของโลกแปรปรวนอย่างรุนแรง
น้ำเป็นหนึ่งในทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของโลก ไม่ว่าจะเป็นวงจรน้ำขึ้น น้ำลง น้ำระเหยเป็นไอ หรือร่วงหล่นเป็นสายฝน ล้วนเป็นปรากฏการณ์ที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ แต่ภาวะโลกร้อนกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อวัฏจักรของน้ำ
จากการวิเคราะห์ 'ภัยพิบัติทางน้ำ' ในปี 2024 ซึ่งเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ พบว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8,700 ราย สูญเสียบ้านเรือน 40 ล้านคน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า 5.5 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งจากอุทกภัยฉับพลันที่ถล่มเนปาลและบราซิล, น้ำท่วมรุนแรงในยุโรปกลาง จีน และบังกลาเทศ ไปจนถึงซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ ซึ่งพัดถล่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอีกหลายเหตุการณ์ทั่วโลก
ขณะที่ 'ภัยแล้ง' ก็สร้างความเสียหายอย่างหนัก ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรในแอฟริกาใต้ลดลงครึ่งหนึ่ง ประชากรกว่า 30 ล้านคนเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหาร ปศุสัตว์ต้องกำจัดสัตว์ในฟาร์มเพราะไม่มีทุ่งหญ้าให้กิน และเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่แห้งขอดจนไฟดับเกือบทั้วประเทศ
ศาสตราจารย์อัลเบิร์ต ฟาน ไดค์ หัวหน้าทีมวิจัยผู้จัดทำรายงานสถานการณ์น้ำทั่วโลกระบุว่า ในปี 2024 โลกประสบกับปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ วัฏจักรของน้ำทั่วโลกได้รับผลกระทบหนักที่สุด ทำให้เราได้เห็นความสุดขั้วที่เลวร้ายทั้งสองด้าน คือภัยแล้งระดับเลวร้าย และน้ำท่วมระดับหายนะ
ที่แย่กว่านั้นคือจากการคาดการณ์สภาพอากาศสำหรับปี 2025 บ่งชี้ว่า ภัยแล้งอาจเลวร้ายกว่าเดิมในอเมริกาใต้ตอนเหนือ แอฟริกาตอนใต้ และบางส่วนของเอเชีย ส่วนภูมิภาคที่มีฝนตกชุก เช่น ซาเฮลและยุโรป อาจเผชิญกับความเสี่ยงต่อน้ำท่วมที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ศาสตราจารย์ฟาน ไดค์เตือนว่า เราจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์รุนแรงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นหมายถึงการป้องกันน้ำท่วมที่แข็งแกร่งขึ้น การพัฒนาแหล่งผลิตอาหารที่ทนทานต่อภัยแล้งมากขึ้น และระบบเตือนภัยล่วงหน้า เพราะในขณะที่น้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของเรา ภัยแล้งและน้ำท่วมก็ถือเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เราต้องเผชิญ