หากน้ำพริกคืออาหารคู่ครัวคนไทยฉันใด ข้าวก็คืออาหารคู่ครัวญี่ปุ่นฉันนั้น สำหรับน้ำพริกคนไทยยังมีให้กินอิ่มพุงกางอยู่ตลอด แต่ดูเหมือนว่าข้าวญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เรื่องนี้มีรายละเอียดด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจ
ในปีนี้ (2567) มีรายงานว่าร้านค้า หรือซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งทั่วประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหามีข้าวไม่พอขาย จึงมีการจำกัดโควตาการซื้อข้าว (2 กิโลกรัม และ 5 กิโลกรัม) ไว้ที่ 1 ถุงต่อคนเท่านั้น และแน่นอนว่าเมื่อข้าวกลายเป็นของหายาก ราคาจึงพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
แต่คำถามคือ "ทำไมข้าวญี่ปุ่นจึงขาดตลาด" และ "เหตุใดคนญี่ปุ่นจำนวนมากจึงแห่กันไปซื้อข้าว" ดินแดนอาทิตย์อุทัยสามารถปลูกข้าวได้มากถึง 7.45 ล้านตันต่อปีเชียวนะ ซึ่งเทียบเท่าปริมาณการบริโภคภายในปะเทศพอดี คือเรื่องราวมันเป็นอย่างนี้...
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ประกาศว่า ปี 2023 คือปีที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกมา ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง อัตราการเก็บเกี่ยวต้องลดลง เมื่อพลิกไปดูดัชนีสถานการณ์ข้าวในญี่ปุ่นพบว่าอยู่ที่ 101 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับค่าเฉลี่ย
แต่อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ Japan Times ทำสกู๊ปเรื่องข้าวญี่ปุ่น โดยระบุว่าสภาพอากาศที่ร้อนระอุทำให้ผลผลิตข้าวของชาวนาในจังหวัดนีงาตะแย่ที่สุดเท่าที่เคยเก็บเกี่ยวมา ในแง่ที่ว่ารสชาติแย่ลง เม็ดข้าวแตก หรือเป็นผุยผง
เหตุผลนี้น่าสนใจ หากใครจำกันได้ สำนักข่าวญี่ปุ่นรายงานข่าวแจ้งเตือนแผ่นดินไหว ขนาด 7.1 เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา พร้อมกับเตือนประชาชนให้อยู่ห่างจากฝั่งเนื่องจากมีคลื่นสึนามิสูง 1 เมตร
สถานการณ์นี้แหละที่เว็บไซต์ Gaijinpot อ้างถึง โดยบอกว่าประชาชนชาวญี่ปุ่นวิตกกับภัยพิบัติ และไม่กล้าออกจากบ้าน จึงแห่กันไปซื้อข้าวมาตุนไว้ที่บ้านเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งขาดตลาดไปในที่สุด
คาซูโตะ ยามาชิตะ อดีตสมาชิกกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น พ่วงด้วยตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายอาหารและเกษตร ออกมากล่าวถึงกรณีข้าวญี่ปุ่นขาดตลาดว่าเป็นเพราะนโยบายลดพื้นที่ปลูกข้าวของรัฐบาล ภายใต้การนำของ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรี
นโยบายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อป้องกันข้าวล้นตลาด และตรึงราคา (ให้สูงเข้าไว้) มีการจ่ายเงินสนับสนุนให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นแทนการปลูกข้าว
เมื่อเกิดเหตุการณ์ข้าวขาดตลาด จึงไม่แปลกที่มีการหยิบยกนโนบายนี้มาสับแหลก แต่ข้อดีคือชาวนายังคงสามารถขายข้าวได้ในราคาสูง ทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพให้กับชาวนาซึ่งเริ่มมีอายุมากแล้ว แต่ที่เด็ดแบบพริกสิบเม็ดคือคำกล่าวอ้างที่บอกว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องการฐานเสียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อาศัยอยู่ในชนบท หรือก็คือกลุ่มเกษตรกรนั่นเอง
ที่มา: Japan Times, Gaijinpot
ข่าวที่เกี่ยวข้อง