ขณะนี้ อุทยานแห่งชาติกว่า 12 แห่ง ปิดพื้นที่ชั่วคราว เลี่ยงทุกกิจกรรม พร้อมสั่งเฝ้าระวังปะการังฟอกขาวอย่างใกล้ชิด สปริงพาไปอัปเดตสถานการณ์ปะการังไทย อันดามัน อ่าวไทย ระส่ำแค่ไหน แล้วมีการช่วยเหลือยังไงบ้าง
หลังจากที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำชับ ทช. ให้ติดตาม “ปัญหาปะการังฟอกขาว” ของทั้งอ่าวไทยและอันดามัน พบว่าสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในทะเลไทยทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
ด้วยอุณหภูมิน้ำทะเลที่เดือดพุ่งทะลุ 32 องศา ส่งผลให้ปะการังไทยเสียอย่างหนักจากการฟอกขาว ล่าสุด อุทยานแห่งชาติกว่า 12 แห่ง ได้สั่งปิดพื้นที่เพื่อเฝ้าระวัง พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลิสต์อุทยานฯ ทั้ง 12 แห่งไว้ดังนี้ (ข้อมูลระหว่างวันที่ 2 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2567)
อย่างไรก็ดี มี 3 อุทยานฯ ในลิสต์ด้านบนที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากได้รับการยืนยันแล้วว่าเกิดปะการังฟอกขาวมากกว่า 50% ของพื้นที่
ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แชร์เรื่องราวผ่านเฟซบุ๊ค Thon Thamrongnawasawat ถึงกรณีปะการังฟอกขาว โดยระบุว่า
“ผมเกลียดโลกร้อน เกลียดๆๆๆๆ โลกร้อนมันทำให้เรารู้สึกหมดหนทาง มันทำลายฝัน มันทำให้รู้สึกไปต่อไม่ได้ มันทำให้ปะการังที่เฝ้าดูแลมาหลายปี ถึงคราวใกล้อวสาน”
ขณะที่ นายสิรณัฐ สก๊อต หรือ "ทราย สก๊อต" นักอนุรักษ์ทางทะเลชื่อดัง ก็ได้เผยภาพที่ตนไปดำน้ำสำรวจสถานกาณณ์ปะการังฟอกขาวที่เกาะลันตา จ.กระบี่
โดยเปิดเผยว่า น่าจะเกิดการฟอกขาวไปแล้ว 25% นอกจากนี้ ยังมีเกาะอีกหลายแห่งที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดการฟอกขาวในเร็ว ๆ นี้ เช่น เกาะไก่ เกาะรอก เกาะห้า เกาะห้อง
ฝั่งอันดามันเรียกได้ว่าเดือดไม่แพ้กัน แนวปะการังในอุทยานแห่งชาติชุมพร ซึ่งกินพื้นที่ราว 20 ไร่ ถูกรายงานว่า เกิดปะการังฟอกขาวแล้ว 80% ในระดับความลึก 8 - 9 เมตร
ด้วยเหตุนี้ ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลชุมพร จึงร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งกลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อกางสแลนทำหลังคากันความร้อนให้กับแนวปะการัง
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ปะการังฟอกขาวยังคงต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด และหลายฝ่ายก็พยายามปกป้องแนวปะการังอย่างเต็มที่ ด้วยสารพัดวิธี แต่ก็คาดเดาไม่ได้อีกเช่นกันว่า ทะเลจะเลิกเดือดเมื่อไร แล้วกว่าจะถึงวันนั้น แนวปะการังจะทนไหวหรือไม่
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, Thon Thamrongnawasawat, Psi Scott Ψ ทราย สก๊อต - Merman มนุษย์เงือก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง