SHORT CUT
อาบแดด เที่ยวออนเซน อาจเป็นสโลแกนใหม่ในการเที่ยวทะเลไทย เนื่องจากน้ำทะเลอุณหภูมิสูงขึ้นใกล้อุณหภูมิออนเซนเข้าไปทุกทีแล้ว โดยอุณหภูมิสูงกว่า 31.5 องศาเซลเซียส ส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตในทะเล ปะการัง และระบบนิเวศในทะเล
จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โลกร้อนทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น บวกกับปรากฏการณ์เอลนีโญยิ่งทำให้ทะเลเดือด
อ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัวเกี่ยวกับอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นในทะเลไทย ดังนี้
"ทะเลเดือดของจริงมาถึงแล้วแม่เจ้าเอ๊ย
เตือนเพื่อนธรณ์มาตั้งแต่ปีก่อน เอลนีโญบวกโลกร้อนจะทำให้ทะเลเดือด เมื่อวานพูดถึงอุณหภูมิน้ำที่สูงจนน่าสะพรึง วันนี้สูงกว่าเมื่อวานครับ
เมื่อเทียบกับต้นเมษาปีก่อน น้ำแถวภาคตะวันออกร้อนกว่าเยอะ ยังเป็นน้ำร้อนประหลาด กลางคืนก็แทบไม่เย็นลง แช่อยู่ที่ 31.5+ องศา
กลางวันไม่ต้องพูดถึง น้ำช่วงนี้ร้อนเกิน 32 องศาเกือบทั้งวัน ที่สำคัญคือช่วงนี้เพิ่งเริ่มพีค (ดูภาพประกอบ จุดแดงคือน้ำร้อนวัดบ่ายเมื่อวาน)
พีคน้ำร้อนของทะเลไทยอยู่ที่ปลายเมษา/พฤษภา สถิติในปีก่อนๆ บอกว่าน้ำอาจร้อนกว่าต้นเมษา 1 องศา
หมายถึงปีนี้ในช่วงนั้น น้ำทะเลอาจร้อนเกิน 33+ องศา ขาดอีกนิดเดียวก็ออนเซนแล้วครับ (38 องศา)
ต้องอธิบายให้เข้าใจว่า จุดที่เราวัดลึก 3-5 เมตร มิใช่น้ำแค่เข่าแค่เอวริมชายฝั่ง แถวนั้นน้ำจะร้อนยิ่งกว่า ถ้าวันไหนแดดแรงๆ จะร้อนจัด
อาบแดดแช่ออนเซนอาจเเป็นสโลแกนใหม่เที่ยวทะเลไทยในไม่ช้า"
อ.ธรณ์ เผยว่าอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นส่งผลให้เกิดปะการังฟอกขาว หากร้อนระดับนี้ต่อไปอีก 2-3 สัปดาห์ จะเริ่มเห็นปะการังฟอกขาวในบางพื้นที่ เช่น ภาคตะวันออก
อีกทั้ง NOAA ยังประกาศเตือนว่าอีก 4-8 สัปดาห์ อาจเกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ในแถบบ้านเรา ปะการังฟอกขาวทำให้ต้องปิดจุดท่องเที่ยว หากต้องปิดสถานที่ท่องเที่ยวจำนวนมากอาจส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในช่วงเที่ยวทะเล
ส่วนสัตว์น้ำชายฝั่งลดลง เมื่อน้ำร้อนจัด ออกซิเจนในน้ำลดลง ปลายังต้องใช้ออกซิเจนเพิ่มขึ้นตามเมตาโบลิซึมร่างกาย สัตว์เล็กอยู่ไม่ได้ ปลาไม่มีอาหารเพียงพอ
สัตว์ล้วนมีลิมิตของสภาพแวดล้อมที่ตัวเองอยู่ได้ ปลาต้องว่ายหนีไปที่ลึก และชาวประมงพื้นบ้านอาจตามไปจับไม่ได้ เพราะออกไปไกลเกิน อาหารทะเลอาจขาดแคลน
การเพาะเลี้ยงปลาในกระชังอาจได้รับความเดือดร้อน เพราะปลาในทะเลยังว่ายหนีได้ แต่ปลาในกระชังไปไหนไม่ได้ น้ำทะเลร้อนจัดอาจเสี่ยงกับสัตว์ตายยกกระชัง ส่วนหอยหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ก็เกิดผลกระทบ โตช้า ตัวเล็ก หรือไม่ก็ตายไปเลย
ช่วงเกิดน้ำทะเลสีเขียวบ่อยขึ้น น้ำร้อนทำให้แพลงก์ตอนบลูมได้ง่าย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เตือนกันไว้ทั่วโลก ซึ่งปีที่แล้วทะเลไทยเกิดแพลงก์ตอนบลูมมากกว่าครั้ง ซึ่งมากกว่าเมื่อ 15-20 ปีก่อน ประมาณ 5 เท่า
ชายฝั่งตะวันออกคือเขตน้ำร้อนจัดในไทย (น้ำทะเลร้อนไม่เท่ากัน) แถวนั้นเป็นเขตฮอตสปอตของน้ำเขียวอยู่แล้ว น้ำร้อนขนาดนี้ยิ่งน่าห่วง
อ.ธรณ์ ยังเผยอีกว่า "พายุฤดูร้อนที่มาปุ๊บ ฝนถล่มน้ำท่วมฉับพลันเป็นจุดๆ ตามที่เคยเกิดเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน ยังกวาดเอาธาตุอาหารลงทะเล ช่วยกระตุ้นให้เกิดน้ำเขียวง่าย
ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง เท่าที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นแนวปะการังหลายแห่ง แหล่งหญ้าทะเล มันก็เปลี่ยนไปเยอะแล้ว
เปรียบเสมือนคนป่วยที่โดนโรครุมเร้า น้ำร้อนจัดในครั้งนี้อาจเป็นตัวปิดจ๊อปสำหรับแนวปะการังหรือแหล่งหญ้าทะเลบางแห่ง
ทั้งหมดนั้น เราทำอะไรกับน้ำร้อนไม่ได้ แต่เราช่วยลดโลกร้อนทุกทางได้ ช่วยบรรเทาผลกระทบอื่นๆ เช่น ขยะทะเล น้ำทิ้ง เที่ยวทำลายล้าง ฯลฯ
เรายังต้องป้อมเตรียมรับมือและปรับตัวกับเหตุการณ์น้ำร้อนเป็นประวัติการณ์เช่นนี้ได้
เตรียมตัวไว้ให้ดี ทะเลเดือดของจริงมาถึงแล้ว"
ที่มา : Facebook Thon Thamrongnawasawat
เนื้อหาที่น่าสนใจ :