svasdssvasds

วันเด็ก 2567 ชวนสำรวจผลกระทบ Climate Change ที่ "เด็กไทย" ต้องเผชิญ

วันเด็ก 2567 ชวนสำรวจผลกระทบ Climate Change ที่ "เด็กไทย" ต้องเผชิญ

เด็กไทยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-ภาคใต้ เป็นกลุ่มที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมากที่สุด เรื่องนี้ร้ายแรงแค่ไหน?

เด็กได้รับผลกระทบจาก Climate Change อย่างไร? Cr. Flickr / Wutthichai Charoenburi

หาก “วันเด็กแห่งชาติ” เป็นวันที่มีไว้เพื่อตระหนักถึงความสลักสำคัญของเด็กและเยาวชน ไฉนการที่เด็กได้รับผลกระทบจาก Climate Change กลับไม่ถูก “ผู้ใหญ่” ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ (มากเท่าที่ควร) ?

ปัญหานี้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากกว่าที่เห็น ประชากรไทยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง บางครั้งก็ไม่มีต้นทุนมากพอที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต (แม้แต่ของ) ตัวเอง และครอบครัวให้ดีขึ้นได้ เพราะปัญหาที่เจอมันสาหัสเกินไป

เด็ก "อนาคตของชาติ ที่อาจไม่มีอนาคต"

กระทั่ง มีการหยิบยกเรื่อง “ไม่มีลูก” เพราะกังวลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทารกน้อยขึ้นมาพูดกันในสังคม ข้อมูลจาก Morning Consult ได้สำรวจข้อมูลเรื่อง “ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ มีผลต่อการติดสนใจมีลูกของคุณมากน้อยแค่ไหน” กับคู่รักในหลาย ๆ ประเทศ

อาทิ อินเดีย สิงคโปร์ สหรัฐ และสหราชอาณาจักร พบว่า กว่า 91% “เป็นกังวลอย่างมาก” หรือข้อมูลจากนิด้าโพล ที่บอกว่าคนไทยกว่า 38.2% ห่วงว่าลูกจะอยู่ยังไงในสภาพสังคมปัจจุบัน

ความลังเลเรื่องมีบุตร - ธิดา เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง แต่ข้อมูลที่บ่งชี้ได้ชัดเจนของเรื่องผลกระทบ Climate Change ต่อเด็กไทย คือ เด็กไทยในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เป็นกลุ่มเด็กที่ถูกรายงานว่า โดนผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเล่นงานหนักกว่าใคร (จ.อุบลราชธานี จ. นครราชสีมา จ.ศรีสะเกษ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.นราธิวาส – UNICEF)

เด็กไทยในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-ภาคใต้เสี่ยง Climate Change ที่สุด

หนึ่งในการศึกษาที่หลาย ๆ ฝ่ายหยิบไปใช้อ้างอิงกันอย่างมากคือ การศึกษาของUNICEF ที่ออกมาเมื่อปี 2023 ที่ได้ประเมินผลกระทบของสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและความเสื่อมทรามที่กำลังเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลโดยตรงต่อ “เด็กไทย” อย่างไร มาก-น้อยแค่ไหน

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน กับเด็ก ๆ

อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเด็กแห่งชาติ 2567 แล้ว คิดว่าเป็นช่วงว่าเป็นช่วงเวลาที่ดี ในการแลกเปลี่ยนถกเถียงถึงเรื่อง ชีวิตแสนอัตคัดของเด็กไทยที่กำลังรับผลกระทบจาก Climate Change ไปเต็ม ๆ

เข้าเรื่องเลยแล้วกัน รายงานของ UNICEF ฉบับนี้สำรวจผลกระทบของเด็กไทยต่อ Climate Change โดยใช้ข้อมูลหลายแขนง อาทิ จังหวัด รายได้ อายุ และความพิการ ร่วมกับข้อมูลด้านสภาพอากาศ อาทิ ความร้อน-หนาว ภัยแล้ง น้ำท่วม รวมถึงเพิ่มข้อมูลเรื่องสถานบริการสุขภาพของแต่ละจังหวัดประกอบเข้าไปด้วย

หลังจากที่คีย์ข้อมูล - สถิติออกมาแล้ว พบว่า สิ่งที่ก่อกวนและสร้างปัญหาให้เด็กไทยมากที่สุดคือ น้ำท่วม ภาวะแห้งแล้ง และอากาศที่ร้อนจัด นอกจากภัยพิบัติทางธรรมชาติแล้ว ยังพบอีกว่า ปัญหาสุขอนามัยอย่าง แหล่งอาหารที่ไม่สะอาด เชื้อโรค โรคระบาด ภาวะขาดอาหาร เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กทั้งสิ้น

Climate Change อันตรายต่อเด็กไทยอย่างไร?

ยกตัวอย่างเช่น ใน 1 ปี พื้นที่จังหวัดสิ่งแวดล้อมบุรี (ชื่อสมมติ) ต้องเผชิญกับฝนตก น้ำท่วม ภัยแล้งจากเอลนีโญ แถมไม่ได้กินอาหารดี ๆ ผลกระทบที่เห็นทันตาคือ เด็กอาจไม่สบาย สุขภาพไม่แข็งแรง เสี่ยงป่วยเป็นโรคร้ายแรง เกิดเป็นความเครียดสะสม (อย่าคิดว่าเป็นเด็กแล้วไม่มีเรื่องเครียด) หรือกระทั่งรุนแรงที่สุด เสียชีวิต

เหตุผลเหล่านี้ยังไม่เพียงพอที่เราจะปกป้องเด็ก ๆ อีกหรือ?

มีหนึ่งสถิติที่ไม่น่าภาคภูมิเอาเสียเลยคือ UNICEF จัดให้ไทยอยู่อันดับที่ 50 จาก 163 ประเทศที่เด็กมีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และอีกหนึ่งรายงานจากเจ้าเดียวกันก็ระบุเอาไว้ว่า เด็กไทยอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 10.3 ล้านคน ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนอยู่บ่อยครั้ง

สิ่งที่น่ากังวลคือ เด็ก ๆ อาจต้องเผชิญปัญหาและผลกระทบจากคลื่นความร้อนลากยาวไปจนถึงปี 2593 หมายความว่า หากวันนี้ เด็กมีอายุ 7 ขวบ เมื่อพวกเขาอายุ 33 ปี ก็ยังต้องเจอกับปัญหานี้อยู่ เรื่องนี้ไม่ปกติเอาเสียเลย

เด็กทั่วโลกมีความเสี่ยงแค่ไหนกับ Climate Change?

รายงานดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศของเด็ก (CCRI) เผยให้เห็นว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ "มีความเสี่ยงสูง" ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้

  • น้ำท่วมชายฝั่ง: 240 ล้านคน
  • น้ำท่วมแม่น้ำ: 330 ล้านคน
  • พายุไซโคลน: 400 ล้านคน
  • โรคติดต่อจากแมลง (มาลาเรีย ไข้เลือดออก): 600 ล้านคน
  • มลพิษจากตะกั่ว: 815 ล้านคน
  • คลื่นความร้อน : 820 ล้านคน
  • การขาดแคลนน้ำ: 920 ล้านคน

เด็กในประเทศมาดากัสการ์ต้องเผชิญกับภัยแล้งและสภาขาดแคลนอาหาร Cr. Reuters / Joel Kouam

เด็กในประเทศมาดากัสการ์ต้องเผชิญกับภัยแล้งและสภาขาดแคลนอาหาร Cr. Reuters / Joel Kouam

เด็กกว่า 3.5 ล้านคนในบังกลาเทศไม่มีน้ำสะอาดบริโภค หลังเหตุการณ์น้ำท่วม Cr. Reuters / STRINGER

ประตู (ไม่) วิเศษสู่ทางแก้ไขปัญหา

UNICEF เสนอทางออกของปัญหาเอาไว้ 4 ประการดังนี้

  • เอาผลประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง

ในความหมายคือ นโยบานที่ดูแลด้าน Climate Change ต้องปักธงมาเลยว่า จะปกป้องและพาเด็กไทย ก้าวออกจากสภาพแวดล้อมที่ต้องตกอยู่ในความเสี่ยง อันเนื่องมาจากผลพวงของสภาพอากาศอันเลวร้ายอย่างไร

  • สร้างความตระหนักรู้

เมื่อปักธงชัดแล้ว การมอบความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่อง Climate Change ให้เด็ก-คนรอบข้างก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ เด็กมีสิทธิได้รับรู้ว่าพวกเขากำลังเจอกับอะไร รวมถึงผู้ใหญ่จะช่วยเด็กเหล่านั้นได้อย่างไร เพราะบางบ้านก็ไม่รู้จริง ๆ ว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ต้องทำอย่างไรต่อ เพียงแต่เอาตัวรอดแบบวันต่อวันเท่านั้น

  • แก้ไขปัญหาแบบล็อคเป้า

ข้อนี้ถูกต่อยอดมาจากข้อที่แล้ว เพียงแต่ต้องวางขอบเขตพื้นที่ให้ชัดเจน แล้วลงไปช่วยแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และเท่าทัน และวางระบบระเบียบที่ช่วยให้ชีวิตเด็ก ๆ ดีขึ้น เช่น ติดตั้งระบบเตือนภัย ที่ต้องเหมาะกับคนทุกเฉดของสังคม

  • เด็กไทยต้องมีสิทธิได้ส่งเสียง

แม้เป็นเรื่องสุดท้าย ทว่า สลักสำคัญไฉน UNICEF เสนอว่า ควรเปิด “โอกาส” ให้เด็กได้มีที่ทางในการพูดคุย แลกเปลี่ยน หรือโต้แย้งต่อเรื่องสภาพอากาศที่พวกเขากำลังเผชิญ รวมถึงหาแนวทางป้องกันสิ่งแวดล้อมในระแวก อย่าไปติดหล่มที่ว่า เสียงของเด็กไม่สำคัญ

 

ที่มาข้อมูล: UNICEF , CNBC , NSM

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related