สึนามิญี่ปุ่นล่าสุด ที่เกิดขึ้นในวันปีใหม่ (1 ม.ค.2567) ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน คือเครื่องเตือนใจที่สำคัญว่า ภัยธรรมชาตินั้นอยู่ใกล้ตัวแค่ไหน และ สามารถเกิดขึ้นได้เสมอโดยไม่เลือกวันหรือเทศกาล
เพราะภัยธรรมชาติสามารถสร้างความเสียหายได้อย่ามหาศาลให้แก่ทุกประเทศได้เพียงชั่วข้ามคืน นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อทำนายภัยพิบัติล่วงหน้าก่อนที่มันจะเกิดขึ้น ซึ่งแม้ว่าการป้องกันพายุไต้ฝุ่น หรือคลื่นสึนามิไม่ให้เกิดขึ้นนั้นจะเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยเตือนภัยให้คนในพื้นที่เอาตัวรอดได้ทันก็เพียงพอแล้ว
แม้ทุกวันนี้ โลกจะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้ตรวจจับโอกาสเกิดภัยธรรมชาติ แต่นักวิจัยบางคนและรัฐบาลของพวกเขากำลังหาวิธีดังกล่าวจากการตอบสนองของสัตว์
กรณีนี้ มีทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสสงสัยว่า นกรับรู้ได้ถึงพายุเฮอริเคนหรือสึนามิก่อนที่จะเข้าโจมตีพื้นที่ของมันหรือไม่ และถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะสังเกตได้ไหมว่าพวกมันจะหนีจากภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
หลักฐานเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงให้เห็นว่า พวกนกรับรู้ภัยพิบัติได้ล่วงหน้า คือเหตุการณ์ในปี 2547 ที่คลื่นนามิเข้าถล่มชายฝั่งของอินเดีย โดยวันนั้นไม่นานก่อนที่คลื่นจะซัดเข้าหาชายฝั่ง มีผู้คนแถวนั้นสังเกตเห็นนกฝูงหนึ่งบินอยู่บนท้องฟ้าในลักษณะผิดปกติ นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังพบอีกว่า ฝูง “นกเทพวิทย์หางลาย (Bar-tailed Godwit) ” ที่ต้องบินอพยพเป็นระยะทางมากกว่า 8,500 ไมล์ ระหว่างนิวซีแลนด์และอลาสก้า ดูเหมือนจะสามารถหลีกเลี่ยงพายุขนาดใหญ่ที่เกิดกลางมหาสมุทรในทุกๆ ปีได้ และพวกมันก็สามารถบินมาถึงที่หมายโดยไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ อย่างน่าเหลือเชื่อ
เรื่องดังกล่าว ทีมงานจาก “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติของฝรั่งเศส (NMNH) ” ได้เริ่มทำการทดลองในปี 2557 โดยผูกเครื่องติดตามไว้กับนก 56 ตัวจาก 5 สายพันธุ์ ซึ่งเครื่องติดตามที่ทันสมัยเหล่านี้ จะส่งข้อมูลตำแหน่งของนก ไปยังไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) และส่งข้อมูลไปให้นักวิทยาศาสตร์ได้ติดตามเส้นทางการอพยพของพวกมันอีกที
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นเพราะนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า นกสามารถได้ยินเสียงอินฟราเรด ที่มีความถี่ต่ำเกินกว่ามนุษย์จะได้ยิน ซึ่งเหตุผลนี้เองที่ทำให้พวกมันสามารถรับรู้ถึงพายุและสึนามิที่กำลังจะเข้ามาหาได้
ผลการทดลองในปี 2557 พบว่านกสามารถหลบจากพายุด้วยการฟังเสียงอินฟราเรด ซึ่งพวกมันสามารถหนีไปก่อนที่พายุจะมาได้ภายใน 24 ชั่วโมง และก็สามารถเตือนมนุษย์ให้เตรียมตัวไว้ล่วงหน้าได้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของการติดเครื่องติดตามในนกพวกนี้คือเตือนภัยสึนามิ ซึ่งพวกเขายังต้องติดเครื่องติดตามให้กับนกอีกหลายร้อยตัวทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อให้มีข้อมูลที่เพียงพอต่อการป้องกันภัยล่วงหน้า และท้ายที่สุดต่อให้จะไม่สามารถสร้างระบบป้องกันสึนามิจากนกที่มีประสิทธิภาพได้ แต่อย่างน้อยนักวิทยาศาสตร์ก็จะเก็บข้อมูลพวกมันเอาไว้ เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ในอนาคตต่อไป
นอกจากนกแล้ว สัตว์อื่นๆ ก็สามารถจับสัญญาณภัยพิบัติได้ก่อนมนุษย์เช่นกัน เช่น เมื่อเกิดแผ่นดินไหว งูจะหนีออกมาจากรูใต้ดิน สุนัขมีอาการตื่นตระหนก บางตัวอาจเห่าหอนไม่หยุด หรือแมวที่อาจหนีขึ้นที่สูงก่อนที่เกิดเหตุ เรื่องนี้ดูได้จากเหตุการณ์สึนามิในประเทศไทย วันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่มีรายงานว่าคนพื้นที่รอดตายเพราะวิ่งตามฝูงควาย ฝูงหมาขึ้นที่สูง
ส่วนเหตุผลที่บรรดาสรรพสัตว์รับรู้ถึงภัยพิบัติได้ก่อนมนุษย์เสมอ นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า พวกมันอาจตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของสนามไฟฟ้าได้ เพราะในตัวสัตว์บางชนิดมีธาตุเหล็กซึ่งไวต่ออำนาจแม่เหล็กและสนามไฟฟ้า นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังมองว่าสัตว์อีกหลายชนิดสามารถจับสัญญาณการเกิดแผ่นดินไหวได้จากสารเคมี หรือคลื่นความถี่ต่ำที่มนุษย์ไม่ได้ยินได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม วงการวิทยาศาสตร์ยังมองว่าการสังเกตพฤติกรรมของสัตว์สามารถใช้ได้แค่บางกรณีเท่านั้น เพราะไม่ว่าอย่างไร มนุษย์ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยี และการใส่ใจกับระบบเตือนภัยของประเทศตนเองให้ไว้เป็นสำคัญ
ที่มา DISCOVERY
ข่าวที่เกี่ยวข้อง