ช่วงนี้เราจะเห็นว่า สัตว์น้อยใหญ่ ถูกภัยธรรมชาติคุกคามโดยเฉพาะภาวะโลกเดือดทำให้สัตว์ป่าอยู่ยากขึ้น อาหารการกินก็หายากขึ้น แต่ที่ร้ายไปกว่านั้น นักวิจัย ค้นพบว่า โลกที่ร้อนขึ้นยังไม่ร้ายเท่าภัยจากน้ำมือมนุษย์
เว็บไซต์ earth.com เผยแพร่งานวิจัยของนักชีววิทยาชาวอเมริกัน ที่ทำการศึกษาว่า อะไรกันแน่คือภัยคุกคามต่อชีวิตสัตว์ป่าในภูมิภาคอเมริกาเหนือ หลังในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพราะปัญหาโลกร้อนนำมาสู่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ
นักวิจัยระบุว่า นอกจากมนุษย์แล้ว เหล่าสัตว์ก็ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนไม่ต่างกัน แต่ผลการศึกษาของนักชีววิทยานี้กลับแสดงให้เห็นว่า แม้การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะเป็นปัญหาวิกฤตของโลกใบนี้เพียงใด แต่มนุษย์ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตสัตว์ป่ามากที่สุดอยู่ดี
มนุษย์ตัวการคุกคามชีวิตสัตว์ป่า
ทารา มิลเลอร์ นักชีววิทยา ซึ่งทำงานร่วมกันกับ Defenders of Wildlife หน่วยงานคุ้มครองสัตว์ป่า เริ่มนำทีมศึกษาที่มหาวิทยาลัยบอสตัน ร่วมกับศูนย์ดูแลฟื้นฟูสัตว์ป่าอีก 94 แห่งทั่วประเทศสหรัฐฯ และ แคนาดา โดยทีมของมิลเลอร์จะวิเคราะห์สถิติที่เก็บมาจากสัตว์กว่าหนึ่งพันสายพันธุ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อตรวจสอบว่าอะไร คือ ภัยคุกคามในภูมิภาคต่อชีวิตสัตว์ป่ากันแน่
สิ่งที่งานวิจัยค้นพบ ก็คือ กิจกรรมของมนุษย์เราคือสาเหตุที่ทำให้สัตว์ป่าล้มป่วยและตายมากที่สุด เช่น การวางยาพิษด้วยตะกั่วในอินทรีหัวขาว และ การที่เต่าทะเลเข้าไปติดในเครื่องมือจับปลาของชาวประมง
แต่ผลการศึกษายังชี้ด้วย ว่า สัตว์ต้องเข้ารับการรักษาในศูนย์ฟื้นฟูดูแลสัตว์ป่ามากขึ้น หลังเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติใหญ่ๆ ที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จากการเก็บข้อมูลพบเบื้องต้น พบว่า มนุษย์เราเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่ศูนย์ฟื้นฟู โดยส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุทางยานพาหนะ การถล่มของอาคาร และ การตกปลา ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่มาจากกิจกรรมของมนุษย์
การล่าสัตว์คร่าชีวิตสัตว์ป่าอย่างทารุณ
ลักษณะการเจ็บปวดของสัตว์ก็จะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล โดยพบว่า อุบัติเหตุทางยานพาหนะ จะเกิดขึ้นกับเหล่าสัตว์มากที่สุดในเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ส่วนในช่วงฤดูใบไหม้ผลิ และ ฤดูร้อน และ ต้นฤดูใบไม้ร่วง เป็นช่วงเวลาที่กิจกรรมของมนุษย์ทั้งจากการทำการเกษตรและก่อสร้าง เป็นภัยคุกคามต่อเหล่าสัตว์มากที่สุด
ในขณะที่เมื่อเข้าฤดูหนาว ตามมาด้วยฤดูล่าสัตว์ การได้รับพิษจากตะกั่วเป็นสาเหตุหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัตว์ในอินทรีหัวขาว เนื่องจากนักล่าส่วนใหญ่ใช้กระสุนตะกั่วในการล่า นอกจากนี้ เมื่อสัตว์เหล่านั้นถูกยิงและได้รับพิษจากตะกั่ว มันยังส่งผลเป็นทอดๆ เพราะแร้งก็จะมากินซากสัตว์ที่ตาย และได้รับพิษจากตะกั่วตามไปด้วย
ทีมงานหวังว่า งานวิจัยของพวกเขาจะช่วยเหลือศูนย์ดูแลฟื้นฟูสัตว์ เพื่อให้ได้รับเงินทุนสนับสนุนต่อไป และยังหวังว่า จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชน เพื่อปกป้องสัตว์ป่าจากมนุษย์ด้วย
ที่มา: https://www.earth.com/news/people-are-a-greater-threat-to-wildlife-than-climate-change-or-anything-else/
ข่าวที่เกี่ยวข้อง