ปลายปี 2566 นี้อาจไม่หนาว และปี 2567 จะร้อนแล้งสุด ๆ การพยากรณ์คาดเคลื่อน ขอเกษตรกรตรวจสภาพอากาศทุก ๆ เดือนและวางแผนเก็บน้ำสำรองไว้ เพราะปีหน้าน้ำทำนาอาจไม่พอ
แม้ว่าสภาพอากาศจะดูเหมือนปกติ เป็นไปตามฤดูกาลของประเทศไทย แต่หากสังเกตให้ดี มันไม่เหมือนเดิมหรอกนะ
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา MQDC และผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก โดยสรุปใจความได้ว่า
จากการวิเคราะห์การกระจายของอุณหภูมิในช่วงเดือนธันวาคมและเดือนเมษายนตั้งแต่ปี 2563-2567 ผลพบว่า ในเดือนธันวาคมของทุกปีที่ผ่านมา อุณหภูมิจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทุกปี หมายความว่า มีความหนาวเย็นเรื่อยมา จนกระทั่งปี 2566 มีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงขึ้นเกือบ 20 องศาเซลเซียส นั่นหมายความว่า ปี 66 เราจะไม่หนาว
ในขณะเดียวกัน อุณหภูมิปี 2567 โดยเฉพาะในเดือนเมษายน ก็จะสูงกว่าปกติประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเราก็จะร้อนสุด ๆ เหมือนกัน โดยปัจจัยของสภาพอากาศที่แปรปรวนดังกล่าว มาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (โลกร้อน) และปรากฏการณ์เอลนีโญ
ปลายฝนปีนี้ ฝนตกเยอะโดยเฉพาะภาคใต้ ไม่ได้ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ และผลกระทบน้ำท่วมรอการระบายเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ไม่ปกติคือ การคาดการณ์ปริมาณฝนปี 2566 เนื่องจากปีนี้เป็นปีเอลนีโญ อาจทำให้การคาดการณ์ปริมาณฝนมีการคลาดเคลื่อนสูง
ยกตัวอย่างเช่น หากสังเกต การพยากรณ์อากาศรายฤดูกาล แบบจำลองส่วนใหญ่บอกว่า ปริมาณฝนมีน้อย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือปริมาณฝนในเดือนกันยายนและตุลาคมมีมากกว่าปกติถึง 30% และ 19% ตามลำดับ โดยเฉพาะพื้นที่ในภาคเหนือและภาคอีสาน (อย่างไรก็ตามปริมาณฝนสะสมยังคงน้อยกว่าปกติ ยกเว้นภาคอีสาน)
หากการคาดการณ์สภาพอากาศมีความคลาดเคลื่อนเช่นนี้ ดังนั้น การพยากรณ์ฝนปีนี้เกษตรกรจึงพึ่งได้เฉพาะการคาดการณ์ฝนล่วงหน้าเพียง 1 เดือนเท่านั้น ดังนั้น ต้องติดตามสภาพอากาศกันทุกเดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลอนดอนอ่วม! คนจุดเตาผิงสู้อากาศหนาว อบอุ่นขึ้นจริง แต่สร้างมลพิษในอากาศ
หน้าหนาวไทย 66 เริ่มเมื่อไหร่ จังหวัดไหนเริ่มแล้วบ้าง อากาศกรุงเทพฯ เป็นไง?
ในขณะที่เริ่มเข้าสู่ฤดูการทำนาปรัง ฝนก็ตกได้น้ำ ราคาข้าวดีเลยจูงใจให้เกษตรกรทำนากันในหลายพื้นที่ ปริมาณน้ำต้นทุน (เฉพาะในลุ่มเจ้าพระยา) ประมาณ 62% (11,000 ล้านลูกบาศก์เมตร) น้อยกว่าปี 2565 (78%, 14,000 ล้านลูกบาศก์เมตร) โดยปีที่แล้วมีการจัดสรรน้ำกว่า 5,800 ล้านลูกบาศก์เมตรทำนาปรังกว่า 7 ล้านไร่ ในลุ่มเจ้าพระยา
แต่ปีนี้ ดูจากข้อมูลกระทรวงเกษตรฯ จะมีการจัดสรรน้ำให้ชาวนาเพียง 2,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะมีพื้นที่ทำนาได้เพียงไม่เกิน 2 ล้านไร่ จาก 8 ล้านไร่ อะไรจะเกิดขึ้น ? พื้นที่นอกเขตชลประทานกว่า 80% โดยเฉพาะในภาคอีสาน ถ้าไม่มีน้ำต้นทุนของตัวเอง (บ่อ สระ ฝายขนาดเล็ก ระบบสูบน้ำเข้าแปลงนา) ประกอบกับอากาศร้อน และแล้งจัดปีหน้า อัตราการระเหยจะเพิ่มขึ้นกว่า 10% ปัญหาเรื่องไฟป่าในภาคเหนือ ฝุ่น PM2.5 และ คลื่นความร้อนในเมืองจะตามมา
เท่านั้นไม่พอ ชาวนาต้องวางแผนสำหรับปีหน้าได้แล้ว เนื่องจากข้อมูลจากแบบจำลองหลายชุดล่าสุดบ่งชี้ว่า ปริมาณฝนต้นปี 2567 อาจน้อยกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบแบบโดมิโนคือ อาจทำให้ฤดูฝนมาล่าช้ามากขึ้นไปอีกสำหรับปีหน้า และพื้นที่รองรับน้ำจากชลประทานอาจไม่มีเพียงพอให้แจกจ่ายอีกต่อไป หากไม่สำรองน้ำส่วนตัวซะตั้งแต่ช่วงนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง