svasdssvasds

ฝนตกทีไรก็ท่วมทุกที คุยกับ ดร.สุจริต ทำไงกรุงเทพฯ ถึงจะแก้น้ำท่วมได้

ฝนตกทีไรก็ท่วมทุกที คุยกับ ดร.สุจริต ทำไงกรุงเทพฯ ถึงจะแก้น้ำท่วมได้

ผู้เชี่ยวชาญการแก้ปัญหาน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผย เมืองกรุงต้องยกระบบระบายน้ำใหม่ เปิดพื้นที่ให้น้ำขังได้พักคือทางออก หลังเตือนเมืองกรุงฯ อาจเสี่ยงน้ำท่วมหนักขึ้นจากสภาวะโลกร้อน

ปัญหาฝนตกหนักจนน้ำท่วมขัง ทำให้รถติดเป็นแพโดยเฉพาะช่วงใกล้เลิกงาน ดูจะเป็นปัญหาเรื้อรังที่คนกรุงฯ ต้องประสบทุกเมื่อเชื่อวัน เมื่อเกิดฝนตกหนักในกรุงเทพมหานคร โดยล่าสุดเมื่อเย็นวันอังคารที่ผ่านมา (26 กันยายน) หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ต้องพบกับน้ำท่วมขังสูง หลังจากฝนตกหนักมากถึง 140 มิลลิเมตร

น้ำท่วมขังบริเวณถนนอุดมสุข เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566  ที่มาภาพ: กรุงเทพมหานคร

จากปัญหาดังกล่าว สปริงนิวส์ ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหาคำตอบว่าทำไมปัญหานี้จึงไม่สามารถแก้ไขได้สักที และเราควรทำอย่างไรเพื่อรับมือกับภัยน้ำท่วมที่จะมีแต่มากขึ้นในอนาคตข้างหน้า เมื่อสภาพอากาศโลกกำลังร้อนขึ้น

 

ต้นเหตุน้ำท่วมเรื้อรังกรุงเทพฯ

รศ.ดร.สุจริต เผยว่า สาเหตุหลักที่คนกรุงเทพฯ ยังต้องเผชิญกับสภาวะน้ำท่วมขัง บางครั้งนานหลายชั่วโมง ภายหลังเกิดฝนตกหนัก เป็นเพราะระบบระบายน้ำของ กทม. สามารถรองรับน้ำฝนได้เพียง 60 มิลลิเมตร ด้วยข้อจำกัดของขนาดท่อ ดังนั้นเมื่อเกิดฝนตกหนักเกินกว่า 60 มิลลิเมตร ดังที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน ย่อมทำให้เกิดน้ำท่วมขังบนถนนจากน้ำฝนที่ระบายไม่ทัน

เนื่องจากระบบระบายน้ำ กทม. ที่มีขีดจำกัดในการรองรับน้ำฝนเพียง 60 มิลลิเมตร การระบายน้ำท่วมขังของ กทม. จึงพึ่งพาระบบสูบน้ำเป็นหลัก ในการช่วยดึงน้ำจากถนน ลงสู่คูคลอง และออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ฝนตกทีไรก็ท่วมทุกที คุยกับ ดร.สุจริต ทำไงกรุงเทพฯ ถึงจะแก้น้ำท่วมได้

“ปกติแล้วปัจจัยน้ำท่วมในแต่ละปีจะแตกต่างกัน ปีนี้ระดับน้ำในแม่น้ำยังถือว่าไม่สูงมากนัก การระบายน้ำท่วมขังลงแม่น้ำจึงไม่ใช่เรื่องยาก อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ทำให้น้ำท่วมขังบนท้องถนนระบายได้ช้า เป็นเพราะเราขาดคลองระบายน้ำที่จะรับน้ำจากบนถนน และระบายลงสู่แม่น้ำ นั่นจึงทำให้เมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา ต้องใช้เวลากว่า 5 – 6 ชั่วโมง ในการระบายน้ำท่วมขังจนแห้ง” รศ.ดร.สุจริต กล่าว

“ก่อนหน้านี้ กรุงเทพฯ เคยมีระบบเครือข่ายคูคลองที่มีประสิทธิภาพมาก เรามักจะมีคูน้ำอยู่ริมถนนแทบทุกสาย ดังเช่น ถนนวิภาวดี-รังสิต แต่ด้วยการเติบโตของเมืองทำให้คูคลองเล็กๆ เหล่านี้ถูกถมไปเพื่อขยายพื้นที่จราจร ดังนั้นพื้นที่รับน้ำที่สำคัญเหล่านี้จึงหายไปเรื่อยๆ”

 

รับมือน้ำท่วมอย่างไรดี

เนื่องจากผลพวงสภาวะโลกร้อน รศ.ดร.สุจริต กล่าวว่า กรุงเทพฯ กำลังจะเจอกับความเสี่ยงน้ำท่วมจากฝนตกหนักมากขึ้น ดังนั้นการเตรียมการรับมือน้ำท่วมจึงมีความสำคัญมาก

“ทางกายภาพ เราจำเป็นจะต้องมีพื้นที่หน่วงรับน้ำในกรุงเทพฯ ให้มากขึ้น เช่น เราควรนำคูน้ำริมถนนกลับมา โดยในบริบทเมืองในปัจจุบัน เราอาจทำเป็นคูระบายน้ำใต้ถนน เพื่อกักเก็บน้ำฝนเอาไว้ ก่อนที่จะสูบระบายออกยังคูคลองและแม่น้ำเจ้าพระยา หรือการนำพื้นที่สระน้ำในสวนสาธารณะ หรือแม้แต่ลานกีฬา เป็นพื้นที่รองรับน้ำฝนไว้ก่อน ก่อนที่จะระบายออก” รศ.ดร.สุจริต กล่าว

ระบบสูบน้ำระบายน้ำจากท้องถนนออกลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา  ที่มาภาพ: กรุงเทพมหานคร

สำหรับในระยะยาว รศ.ดร.สุจริต กล่าวว่า เราควรให้ความสำคัญกับการปรับพื้นที่ผังเมืองให้รับกับธรรมชาติและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่น ขยายพื้นที่สีขียวในเมืองให้มากขึ้น กำหนดพื้นที่รับน้ำให้ชัดเจนในผังเมือง รวมไปถึงปกป้องดูแลคูคลองที่เรามีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ และไม่ให้มีการรุกล้ำเพิ่มเติม จะสามารถช่วยให้เราลดปัญหาน้ำท่วมขังหลังฝนตกหนักไปได้

เขายังกล่าวเสริมว่า ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรออกมาตรการเสริมเพื่อช่วยลดและแก้ปัญหาอื่นๆ ที่มากับน้ำท่วม เช่น อาจควรประกาศให้คนที่ทำงานในกรุงเทพฯ สามารถสลับเปลี่ยนไปทำงานจากบ้านแทนในวันที่ฝนตกหนัก เพื่อช่วยลดปัญหาการจราจรช่วงฝนตกน้ำท่วมขังได้

“สุดท้ายเราควรจะเรียนรู้และอยู่กับน้ำให้ได้ เพราะเมื่อสภาพอากาศแปรปรวนเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่เราจะต้องปรับตัวให้ได้” รศ.ดร.สุจริต กล่าวทิ้งท้าย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related