การเมืองไทยไม่ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็รอไม่ได้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมไทยควรแก้เรื่องไหนด่วนสุด ชวนคุยกับ เดชรัต ตัวจี๊ดนโยบายสิ่งแวดล้อมก้าวไกล
ปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทย เป็นปัญหาที่รอไม่ได้ สำคัญไม่ต่างกับเรื่องปากท้องอื่น ๆ แม้สถานการณ์ทางการเมืองยังคงคุกกรุ่น แต่ไม่ว่าใครจะได้เข้ามาเป็นรัฐบาล สุดท้ายปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ยังคงอยู่ต่อไป และมันไม่รอให้การเมืองไทยได้ผลสรุปว่าใครจะเป็นนายก
สปริงนิวส์ในคอลัมน์ Keep The World ได้สัมภาษณ์ นายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center สถาบันวิชาการนโยบายของพรรคก้าวไกล ที่เผยว่า ไม่ว่าสุดท้ายก้าวไกลจะได้เป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็จะทำหน้าที่ผลักดันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไทยต่อไป
นายเดชรัต เผยว่า สิ่งที่จะผลักดันแก้ไขทันทีด้านสิ่งแวดล้อมของไทย เมื่อการเมืองไทยได้ผลสรุป มีอยู่ 4 ประเด็นหลัก ดังนี้
PM2.5 ฝุ่นร้ายที่วนกลับมาทุกปีจนกลายเป็น New Normal
ปัญหา PM2.5 เรื่องใหญ่และด่วนที่สุด เพราะตอนนี้เราเหลือเวลาอีกประมาณ 5 เดือน ก็จะกลับเข้าสู่รอบฤดูกาลของฝุ่นแล้ว นายเดชรัตน์บอกว่า ปัญหานี้มีมานาน รัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ปีนี้ถ้าก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจริง ๆ ก็คงมีการประกาศเป้าหมายชัดเจนไปเลย ว่าเราจะรับผิดชอบอย่างไร
อย่างปีนี้เราตั้งเป้าหมายว่าจะต้องให้จำนวนวันที่ปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐานลดลงให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง อย่างในกรณีของเชียงใหม่จะต้องไม่มีสีม่วงเลย ส่วนแนวทางการแก้ไข ก็เป็นไปตามลักษณะของปัญหา เช่น
ภัยแล้งเอลนีโญ ตะปูดอกที่สองที่จะทำให้ปลายปีวิกฤตมากขึ้น
ในประเด็นของภัยแล้งที่ไทยกำลังจะเผชิญเร็ว ๆ นี้ เราก็ต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง เพราะว่าภัยแล้งมันเป็นการแล้งที่ได้ไม่เกิดขึ้นทั่วประเทศ แม้ภาพรวมส่วนใหญ่แล้ง แต่บางพื้นที่ก็ไม่แล้ง เช่น ตอนนี้ที่อุบลราชธานีก็มีฝนค่อนข้างเยอะ
เรื่องเร่งด่วนคือต้องจัดหาแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของน้ำบาดาล หรือสระน้ำ เราก็จะต้องรีบดำเนินการ ตอนนี้มีความจำเป็น ต้องนำงบกลางมาใช้ เพราะงบประมาณปีหน้าอาจล่าช้า
ตอนนี้ก็ได้จัดทำแผนไปแล้ว อย่างคุณพิธาก็ได้ไปพบ GISTDA โดย Gistda อาจต้องชี้เป้าพื้นที่ที่มีดัชนีความแห้งแล้งสูง เราก็จะเร่งเข้าไปหาทรัพยากรน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะสำหรับการทำน้ำประปา อันนี้เป็นเรื่องใหญ่
ส่วนในพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะในเกษตรชลประทานมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการปลูกพืชในหนึ่งรอบคือ ต้นปี 2567 ปริมาณน้ำอาจจะเหลือน้อยลง จนไม่สามารถปลูกข้าวนาปรังแบบเดิมได้ คงจะต้องเปลี่ยนมาตรการเศรษฐกิจที่จะช่วยพี่น้องเกษตรกรให้เปลี่ยนเป็นปลูกพืชชนิดอื่น ๆ
บ่อขยะ 2,000 บ่อ ภัยเงียบที่ส่งผลต่อสุขภาพชุมชนร้ายแรง
ปัจจุบัน บ่อขยะมันไม่ได้มีการฝังกลบอย่างถูกวิธี ถ้าจำได้เมื่อหน้าร้อนปีนี้ก่อนเลือกตั้ง ก็เกิดไฟไหม้บ่อขยะที่บางบาล จ.อยุธยา และก็ที่สมุทรปราการ เพราะถ้าไม่แก้มันจะยิ่งเวียนกลับมา บ่อขยะมีความแห้งก็อาจจะมีการไหม้เพิ่มขึ้นอีก
เพราะฉะนั้นในระยะสั้นเราก็ต้องเข้าไปดูวิธีการป้องกัน ไม่ให้เกิดไฟไหม้บ่อขยะเกิดขึ้น และบ่อไหนจำเป็นที่จะต้องหาวิธีการจัดการ ซึ่งก็มีหลายวิธี เช่น การขุดออก นำไปฝัง นำไปหมักอย่างถูกวิธี ซึ่งมันก็ใช้งบประมาณค่อนข้างเยอะอยู่ อาจจะต้องดูก่อนว่าวิธีแก้ปัญหาในแต่ละจุดจะทำอย่างไรได้บ้าง ปัญหานี้ก็ต้องรีบแก้ เพราะมันไม่ถูกสุขลักษณะเลย และสร้างปัญหาให้กับประชาชนอย่างมาก
ฟื้นฟูพื้นที่ทิ้งกากอุตสาหกรรม
ที่ผ่านมามักจะเกิดการรีรอ จะฟ้องเอกชนผู้ที่เป็นต้นเหตุก่อน ก่อนที่จะมาฟื้นฟู เราคิดว่ามันไม่ใช่ความผิดของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้นชาวบ้านก็ควรจะได้รับการฟื้นฟู ควบคู่ไปกับการฟ้องร้องคดีผู้ที่ก่อเหตุ
การลงโทษ ใช้วิธีการชดใช้ ซึ่งจะต้องได้งบมาแก้ปัญหา พยายามไม่ใช้งบของรัฐออกแทน เรื่องนี้เป็นเทคนิคทางกฎหมาย มันก็อยู่ที่การเก็บข้อมูลหลักฐานในอดีต เอาค่าชดเชยจากบริษัทมาฟื้นฟูชาวบ้านควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อม