นักดาราศาสตร์ ชี้เสี่ยงเกิดพายุสุริยะ หลังพบจุดดับสูงเป็นประวัติการณ์ ขยายใหญ่กว่าโลกถึง 10 เท่า ในเวลาเพียง 48 ชั่วโมง หวั่นทำส่งผลให้สัญญาณวิทยุในพื้นที่ครึ่งหนึ่งของโลกใช้งานไม่ได้
โดยนักดาราศาสตร์ ชี้ว่าปรากฏการณ์พายุสุริยะรอบนี้จะมีจำนวนจุดดับบนดวงอาทิตย์สูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2002 และยังพบอีกว่าจุดดับเหล่านั้นที่มีชื่อว่า “เออาร์3354 (AR3354)” ได้ขยายใหญ่กว่าโลกถึง 10 เท่า ในเวลาเพียง 48 ชั่วโมง สำหรับข้อมูลทั้งได้มาจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศโซโห (SOHO) ที่ถูกส่งขึ้นไปทำหน้าที่ศึกษาเกี่ยวกับพื้นผิวของดวงอาทิตย์ตั้งแต่ปี 1995 โดยจุดดับดังกล่าวปรากฏขึ้นบนพื้นผิวดวงอาทิตย์เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา และต่อมาในวันที่ 29 มิถุนายน 2023 ได้ขยายใหญ่ขึ้นจนกินพื้นที่ประมาณ 3,500 ล้านตารางกิโลเมตร และเกิดปรากฏการณ์โซลาร์แฟลร์หรือการปะทุของรังสีออกมาจากจุดดับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"พายุสุริยะ" คืออะไร นาซาสั่งจับตาส่อเกิด "อินเทอร์เน็ตล่ม" ทั่วโลกปี 2025
หายนะแน่ ! GISTDA เตือน เอกชนควรเตรียมพร้อมรับ พายุสุริยะ เหลือเวลาอีก 730 วัน
เน็ตจะล่มจริงไหม ? หลัง NASA จับตาความรุนแรงของ "พายุสุริยะ" สาหัสกว่าในอดีต
ทั้งนี้ปรากฏการณ์โซลาร์แฟลร์ที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับเอ็ม ซึ่งมีพลังงานปานกลาง จึงไม่เป็นอันตรายกับโลกมากนัก และปรากฏการณ์โซลาร์แฟลร์จากจุดดับดังกล่าวก็ได้สงบลงจนกระทั่งวันที่ 2 กรกฎาคม 2023 จุดดับนี้ได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์โซลาร์แฟลร์อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ความรุนแรงของการปะทุรังสีอยู่ในระดับเอ็กซ์ (X) อันเป็นระดับสูงสุด แต่ความรุนแรงมากพอที่จะทะลุสนามแม่เหล็กโลกเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกได้ ส่งผลให้ส่วนบนของชั้นบรรยากาศโลกแตกตัวเป็นไอออนและทำให้โมเลกุลกลายเป็นพลาสมาหนาแน่น เป็นผลให้สัญญาณวิทยุกระจัดกระจาย ทำให้เกิดสัญญาณวิทยุดับในฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกาและบางส่วนของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกนาน 30 นาที
ขณะเดียวกันนักดาราศาสตร์ ยังแสดงความกังวลด้วยว่าจุดดับนี้อาจทำให้เกิดการปลดปล่อยมวลโคโรนาของดวงอาทิตย์ ซึ่งจะรุนแรงมากพอที่จะทำให้เกิดพายุแม่เหล็กโลกจะส่งผลให้สัญญาณวิทยุในพื้นที่ครึ่งหนึ่งของโลกใช้งานไม่ได้ นับว่าเป็นเรื่องที่โชคดีที่การปลดปล่อยมวลโคโรนาจากจุดดับนี้ยังไม่เกิดขึ้น แต่จุดดับดังกล่าวก็ยังไม่มีท่าทีจะเล็กลงหรือหายไป อีกทั้งตอนนี้ จำนวนจุดดับบนดวงอาทิตย์ยังมีมากถึง 163 จุด ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2002 ทั้งนี้จุดดับบนดวงอาทิตย์เกิดจากความเปลี่ยนแปลงในสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ จากการสลับขั้วแม่เหล็กเหนือและใต้ ซึ่งจำนวนจุดดับบนดวงอาทิตย์จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงระดับที่มากที่สุด หลังจากนั้นจำนวนจุดดับจะค่อย ๆ ลดลงจนถึงระดับที่น้อยที่สุด โดยปรากฏการณ์นี้เรียกว่าวัฏจักรสุริยะ ซึ่งจะกินเวลา 11 ปีต่อ 1 รอบวัฏจักรสุริยะ นั่นเอง
อย่างไรก็ตามสำหรับวัฏจักรสุริยะรอบปัจจุบันเริ่มขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2019 จะสิ้นสุดในปี 2030 โดยนักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าจำนวนจุดดับบนดวงอาทิตย์จะมากที่สุดในปี 2025 หลังจากนั้นมันจะค่อย ๆ ลดลง ซึ่งช่วงที่จำนวนจุดดับบนดวงอาทิตย์มากที่สุด ดาวเทียมในวงโคจรอาจได้รับความเสียหาย และเสียการควบคุม จนก่อให้เกิดการชนกันแบบโดมิโน่ สร้างความเสียหายในวงกว้าง พร้อมกันนี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับโครงข่ายไฟฟ้า และการสื่อสารครึ่งโลกได้เช่นกัน