svasdssvasds

รอยเลื่อนที่มองไม่เห็น มีอีกมากอาจมีผลในอนาคต การออกแบบอาคารควรมีมาตรฐาน

รอยเลื่อนที่มองไม่เห็น มีอีกมากอาจมีผลในอนาคต การออกแบบอาคารควรมีมาตรฐาน

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่พิษณุโลกที่ผ่านมา มีขนาด 4.5 ที่ระดับความลึก 5 กิโลเมตร มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณตำบลไผ่ล้อม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ส่งผลให้ประชาชนรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนทั้งในจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตร และจังหวัดกำแพงเพชร

แผ่นดินไหวในครั้งนี้นับเป็นการพบรอยเลื่อนตัวใหม่ ทางอุตุนิยมวิทยาเผยว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้มีจุดศูนย์กลางที่ไม่ได้อยู่บนรอยเลื่อนมีพลัง (Active Fault) ซึ่งสํารวจโดยกรมทรัพยากรธรณี พื้นที่ดังกล่าวอาจเป็นรอยเลื่อนที่ยังไม่ได้รับการสํารวจ (Hidden Fault) ซึ่งพบว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากแนวรอยเลื่อนที่มีทิศทางการวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งวางตัวตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว

รอยเลื่อนที่มองไม่เห็น มีอีกมากอาจมีผลในอนาคต การออกแบบอาคารควรมีมาตรฐาน

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ในฐานะนักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่พิษณุโลก อาจจะมีรอยเลื่อนที่มองไม่เห็นอีกมากที่การศึกษายังไปไม่ถึง ดังนั้นการออกแบบอาคารใหม่และการเสริมความแข็งแรงอาคารเก่าให้รองรับแผ่นดินไหวได้จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด

เนื้อหาที่น่าสนใจ : 

สาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหวมักจะเกิดขึ้นจากรอยเลื่อนที่มีพลัง แต่ในบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้ จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวยังอยู่ห่างจากแนวของกลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์และกลุ่มรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ อาจเป็นไปได้ว่ารอยเลื่อนที่มองไม่เห็น (Blind Fault) เป็นรอยเลื่อนที่ยังไม่ถูกตรวจพบ และอาจมีรอยเลื่อนที่มองไม่เห็นอีกมากที่การศึกษายังไปไม่ถึง และในประเทศไทยยังมีรอยร้าวเล็กๆ รอยแตกอีกเป็นจำนวนมากในแผ่นเปลือกโลก ซึ่งรอยเหล่านี้ก็สามารถทำให้เกิดแผ่นไหวได้เช่นกัน

แผ่นดินไหวครั้งนี้สามารถทำให้โครงสร้างอาคารในบริเวณดังกล่าวรับรู้แรงสั่นสะเทือน และอาจทำให้โครงสร้างอาคารที่ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานเกิดการแตกร้าวได้ รวมทั้งอาคารที่มีความเสี่ยง ได้แก่ โบราณสถาน วัด ที่ก่อสร้างจากอิฐก่อ มีโอกาสแตกร้าวได้ง่าย ขณะที่บ้านเรือนประชาชนที่ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน เช่น อาคารที่มีขนาดเสาที่เล็ก ก็อาจแตกร้าวเสียหายได้เช่นกัน ส่วนอาคารที่ก่อสร้างตามหลักวิศวกรรม มีการเสริมเหล็กด้านในและมีขนาดเสาคานที่วิศวกรคำนวณมาแล้ว คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง แต่เพื่อความไม่ประมาทเจ้าของอาคารก็ควรสำรวจตรวจสอบอาคารของตนด้วย

อย่างไรก็ตามแผ่นดินไหวในครั้งนี้สามารถทำให้โครงสร้างอาคารรับรู้แรงสั่นสะเทือน และอาจทำให้โครงสร้างอาคารที่ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานเกิดการแตกร้าวได้ รวมถึงอาคารที่มีความเสี่ยง อย่าง วัดที่ก่อสร้างจากอิฐก่อมีโอกาสแตกร้าวได้ง่าย บ้านเรือนที่ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน อาคารที่มีขนาดเสาที่เล็ก ก็อาจแตกร้าวเสียหายได้เช่นกัน ดังนั้นการออกแบบอาคารใหม่และการเสริมความแข็งแรงอาคารเก่าให้รองรับแผ่นดินไหวได้จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด

ในแง่ของกฎหมายก่อนปี พ.ศ. 2564 พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างไม่ได้จัดว่าเป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว เนื่องจากสถิติที่ผ่านมาตรวจพบแผ่นดินไหวน้อย อย่างไรก็ตามจากข้อมูลผลการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ในปี พ.ศ.2564 กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ออกกฎกระทรวงฯ กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว โดยกำหนดให้จังหวัดพิจิตรอยู่ในบริเวณที่หนึ่ง และจังหวัดกำแพงเพชรอยู่ในบริเวณที่สองของกฎกระทรวงฯ ซึ่งถือว่าเป็นบริเวณที่ความเสี่ยงแผ่นดินไหวในระดับต่ำถึงปานกลาง และต้องออกแบบอาคารให้รองรับแผ่นดินไหว เช่น อาคารที่สูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป และอาคารอื่นตามที่กฎหมายกำหนด มีข้อสังเกตว่าจังหวัดพิจิตรยังไม่ได้อยู่ในบังคับของกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ กฎกระทรวงปี 2564 เพิ่งบังคับใช้เมื่อสองปีที่ผ่านมานี้เอง ทำให้อาคารจำนวนมากที่ก่อสร้างก่อนปี 2564 ไม่ได้ถูกออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว ดังนั้นอาคารเก่าเหล่านี้ รวมถึงอาคารที่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว เช่น โบราณสถาน วัด จึงควรได้รับการประเมินและตรวจสอบว่าสามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ในระดับใด และต้องเสริมความแข็งแรงเพื่อรองรับแผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

 

ที่มา : สกสว. / กรมอุตุนิยมวิทยา