ฤดูแล้งปี2566 หลายฝ่ายต่างเร่งเปิดแผนรับมือน้ำแล้ง ในอุตสาหกรรมประมง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำก็เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ กรมประมงได้ออกมาเตือน เลี้ยงสัตว์น้ำรับมือภัยแล้ง พร้อมแนะ 10 วิธีข้อควรปฏิบัติให้รอด และสั่งจับตา 5 โรคสัตว์น้ำสร้างความเสียหาย
ปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นเป็นประจำในทุกๆปี แน่นอนว่าปัญหาดังกล่าวกระทบกับเศรษฐกิจ กระทบพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในช่วงหน้าแล้งต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดย นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า สภาพอากาศในช่วงฤดูร้อนจะมีลักษณะอากาศร้อนอบอ้าว และร้อนจัดในหลายพื้นที่ ซึ่งได้ส่งผลให้อุณหภูมิน้ำทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำชลประทานเกิดการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น กระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุให้สัตว์น้ำที่เกษตรกรเลี้ยงไว้เกิดความเครียด อ่อนแอ มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่าย และอาจตายได้
ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น กรมประมงจึงได้จัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้ง ประจำปี 2566 ไว้ 3 ระยะ คือ
1. การเตรียมรับสถานการณ์ก่อนเกิดภัย
2. การให้ความช่วยเหลือขณะเกิดภัย
3. การให้ความช่วยเหลือหลังเกิดภัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ กรมฯ ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ รวมทั้งหาวิธีการป้องกัน แก้ไข และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เน้นการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง เช่น การเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง ในแม่น้ำสายหลักและแม่น้ำสายรอง หรือแหล่งน้ำอื่นๆ รวมถึงเฝ้าระวังสัตว์น้ำในที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำโครงการปลาหน้าวัด
นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำทางวิชาการแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเตรียมการป้องกันอีกด้วยโดยกรมประมงมีข้อควรปฏิบัติในช่วงฤดูแล้ง ดังนี้
1. ควรปรับลดขนาดการผลิตหรืองดเว้นการเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยทำการตากบ่อและตกแต่งบ่อเลี้ยง/ทำความสะอาดและซ่อมแซมกระชังในช่วงฤดูแล้งแทน เพื่อเตรียมไว้เลี้ยงสัตว์น้ำในรอบต่อไป
2. วางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และฤดูกาล โดยเฉพาะแหล่งน้ำ ที่ตั้งกระชังควรมีระดับความลึกเพียงพอ เมื่อตั้งกระชังแล้วพื้นกระชังควรสูงจากพื้นน้ำไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร เพื่อให้น้ำมีการหมุนเวียนถ่ายเทได้สะดวก
3. ทยอยจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำภายในบ่อ/กระชัง
4. หากจำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์น้ำควรคัดเลือกพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความแข็งแรง จากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้
5.ควบคุมการใช้น้ำและรักษาปริมาณน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด ป้องกันการรั่วซึม
หรือจัดทำร่มเงาให้กับบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
6. ควรจัดเตรียมหาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้เพิ่มเติม ปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงในปริมาณหนาแน่นน้อยกว่าปกติ
และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่เพื่อลดระยะเวลาการเลี้ยงให้น้อยลง
7. ควรเลือกใช้อาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดี ให้ในปริมาณที่เหมาะสม และลดปริมาณอาหารสัตว์น้ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นอาหารสดเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย
8. ควรทำความสะอาดกระชังสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดตะกอนและเศษอาหาร ซึ่งเป็นการตัดวงจรชีวิตปรสิต
และเชื้อโรค นอกจากนี้ช่วยให้กระแสน้ำไหลผ่านกระชังได้ดี มีผลต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพสัตว์น้ำ และควรสังเกตอาการต่าง ๆ ของสัตว์น้ำที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติจะได้แก้ไขและให้การรักษาได้ทันท่วงที
9. ควรงดเว้นการขนถ่ายสัตว์น้ำ ถ้าจำเป็นต้องระมัดระวังให้มากเนื่องจากจะมีผลกระทบกับการกินอาหาร
และการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำโดยตรง
10. ควรหมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบสิ่งผิดปกติ ให้รีบหาสาเหตุและแก้ไขได้ทันที
ในขณะเดียวกันควรแจ้งให้ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงทราบ เพื่อที่จะได้หามาตรการป้องกันการแพร่กระจายโรค กรณีที่มีสัตว์น้ำป่วยตายควรกำจัดโดยการฝังหรือเผา ไม่ควรทิ้งสัตว์น้ำป่วยในบริเวณบ่อและแหล่งน้ำที่เลี้ยงเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการแพร่กระจายเชื้อโรคทำให้การระบาดของโรคเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับโรคสัตว์น้ำที่ควรเฝ้าระวังในฤดูแล้ง ได้แก่
1. โรคที่เกิดจากปรสิต ได้แก่ เห็บระฆัง ปลิงใส เห็บปลา หมัดปลา เป็นต้น โดยสัตว์น้ำที่เป็นโรค
ที่เกิดจากปรสิตจะมีลักษณะอาการว่ายน้ำผิดปกติ ว่ายน้ำถูตามข้างบ่อ ลอยตัวที่ผิวน้ำ หายใจถี่เร็วกว่าปกติ
กินอาหารน้อยลง ผอม ขับเมือกมาก มีจุดแดงหรือมีแผลถลอกตามผิวลำตัว โดยโรคจากปรสิตสามารถควบคุมได้
โดยการตัดวงจรชีวิตของปรสิต เช่น รักษาความสะอาด กำจัดตะกอน และเศษอาหาร ควบคู่กับการควบคุมคุณภาพน้ำ และการใช้สารเคมี
2. โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ โรคตัวด่าง โรคแผลตามลำตัว โรคสเตรปโตคอคคัส
เป็นต้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำทั่วไป โดยจะเข้าทำอันตรายต่อสัตว์น้ำ
เมื่อสัตว์น้ำอ่อนแอ
2.1 โรคตัวด่าง มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Flavobacteriumcolumnare ลักษณะอาการ
ที่พบคือ ผิวหนังบวมแดง แผลด่างตามลำตัวและเหงือก มักเกิดกับปลาในช่วงย้ายบ่อ ระหว่างการลำเลียง
หรือการขนส่งปลา และช่วงที่อุณหภูมิในรอบวันมีการเปลี่ยนแปลงมาก ถ้าเกิดปลาขนาดเล็กอาจตายภายใน
1 – 2 วัน แนวทางการป้องกันรักษา คือ ปรับปรุงคุณภาพให้เหมาะสม ลดปริมาณสารอินทรีย์ ภายในบ่อเลี้ยง
ลดความเครียดระหว่างการขนส่งโดยใช้เกลือแกง 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1 ตัน (0.1 เปอร์เซ็นต์) และการรักษา
ใช้ด่างทับทิม 1 – 3 กรัมต่อน้ำ 1 ตัน แช่นาน 24 ชั่วโมง หรือฟอร์มาลีน 40 – 50 มิลลิเมตร ต่อน้ำ 1 ตัน
แช่นาน 24 ชั่วโมง หรือใช้ยาต้านจุลชีพตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
2.2 โรคแผลตามลำตัว มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Aeromonassp. หรือ Pseudomonas sp. ลักษณะอาการที่พบ คือ ตกเลือดบริเวณลำตัว/ครีบ ผิวตัวเปื่อย ครีบกร่อน เกล็ดตั้ง ท้องบวม มักพบในบ่อที่มีการจัดการเลี้ยงที่ไม่เหมาะสม เลี้ยงสัตว์น้ำที่ความหนาแน่นสูง แนวทางป้องกันรักษา คือ จัดการการเลี้ยงให้เหมาะสม ลดอัตราความหนาแน่นสัตว์น้ำ หรือใช้ยาต้านจุลชีพในการรักษาตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
2.3 โรคสเตรปโตคอคคัส มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus agalactiae
โดยลักษณะอาการที่พบ คือ ว่ายน้ำควงสว่าน ตาโปน ตาขุ่น ตกเลือดตามลำตัว หากไม่ได้รับการรักษาจะมีอัตราการตาย 50 – 100 %โรคดังกล่าวจะมีความรุนแรงในช่วงฤดูร้อนโดยเฉพาะในปลานิล เกิดกับปลาได้ทุกขนาด แนวทางในการป้องกันรักษา คือ จัดการการเลี้ยงให้เหมาะสม หรือใช้ยาต้านจุลชีพในการรักษาตามคำแนะนำของสัตวแพทย์