"ตัดไม้แต่ได้ป่า" โมเดลป่ายั่งยืนของสวีเดน ผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมที่มีป่ามากกว่า 80% ของพื้นที่ประเทศ และยังเป็นผู้ส่งออกไม้เศรษฐกิจเป็นอันดัย 3 ของโลก เขาทำได้ยังไง?
การตัดไม้ทำลายป่า เป็นสิ่งที่คนด้านสิ่งแวดล้อมไม่ชอบใจอย่างแรง เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและโลกแล้ว ยังส่งผลกระทบระยะยาวของความหลากหลายทางชีวภาพด้วย แต่ในแง่ของเศรษฐกิจ ไม้ยังเป็นสินค้าสำคัญที่หลายประเทศยังต้องพึ่งพาในการส่งออกและแปรรูปใช้ภายใน ดังนั้น ทำอย่างไรดี ให้การตัดไม้เพื่อบริโภคเป็นไปอย่างยั่งยืนและลดความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 กรุงเทพฯ - เอสซีจี จับมือกับ สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนและไทย ร่วมกันผลักดันโมเดลจัดการป่าไม้ยั่งยืนระดับโลก ผ่านงาน “Redesign Sustainable Forestry : The Innovative Forest Management” ที่ได้โมเดลมาจากการจัดการป่าไม้ในสวีเดน ประเทศแห่งการส่งออกไม้เศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกและยังครองตำแหน่งผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมดีด้วยเช่นกัน
นวัตกรรมที่สวีเดนนำมาใช้เพื่อสร้างความสมดุลให้กับป่านั้นมีหลายแนวทาง เช่น การพลิกฟื้นป่าที่เสื่อมโทรมทั่วประเทศที่เหลือเพียง 25% ให้เพิ่มเป็น 75% ได้สำเร็จ การปลูกป่าไม้เชิงพาณิชย์ ส่งเสริมเศรษฐกิจเติบโต เช่น ไม้แปรรูปสำหรับภาคก่อสร้างขนาดใหญ่ ไม้แปรรูปสำหรับเฟอร์นิเจอร์ ที่ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมสามารถนำไปศึกษาต่อยอดได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
21 มีนาคม วันป่าไม้โลก สำรวจพื้นที่ป่าทั่วโลกลดลง ถูกรุกล้ำจากน้ำมือมนุษย์
14 มกราคม วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ชวนตระหนักถึงคุณค่าป่าไม้
นาย ยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สวีเดนส่งออกไม้เป็นอันดับที่ 3 ของโลก มูลค่ารวมกว่า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ยังสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เคยเหลือเพียง 25% เมื่อ 100 ปีก่อน เป็น 75% คือการใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (Forestry Act) ที่ทำให้ตัดไม้แต่ได้ป่า ถ้าตัดต้นไม้หนึ่งต้น ต้องปลูกเพิ่มอย่างน้อยสามต้น
นอกจากจะได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ช่วยดูดซับคาร์บอน ลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังช่วยให้คนอยู่ร่วมกับป่า ใช้ประโยชน์จากป่า และมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าไปพร้อมกัน โดยได้ป่าไม้ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน เช่น ไม้สำหรับการก่อสร้างอาคารสมัยใหม่ ไม้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงเศษไม้เหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล รัฐบาลสวีเดนหวังว่าโมเดลและประสบการณ์ที่นำมาแบ่งปันในวันนี้ จะเกิดความร่วมมือระหว่างสองประเทศเพื่อขยายแนวคิดแห่งความยั่งยืนนี้ต่อไป”
ผู้เชี่ยวชาญจากสวีเดนหลายท่านได้ให้ความเห็นอีกด้วยว่า การปลูกต้นไม้เศรษฐกิจนั้นสำคัญ แต่ที่สำคัญที่สุดอีกเช่นกันคือการควบคุมการปลูกให้ไม้ได้ประสิทธิภาพและใช้พื้นที่ให้คุ้มค่าที่สุด สวีเดนใช้วิธีการลปูกต้นไม้หลากหลายแบบ เช่น การบังคับการเติบโตของลำต้นให้ตั้งตรง ไม่โค้งงอ วิธีนี้จะช่วยประหยัดพื้นที่ให้กับต้นไม้อื่น ๆ มาเติบโตใกล้ ๆ ได้ ทำให้เราประหยัดพื้นที่ไปได้เยอะ และสามารถเข้าไปเก็บได้ง่าย
ต้นไม้ยักษ์ในชิลีคาดอายุ 5,400 ปี อาจเป็นต้นไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
สถิติการตัดไม้ในป่าแอมะซอนของบราซิลแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
การทำแบบนี้นอกจากจะได้ไม้สำหรับส่งออกแปรรูปได้มาตรฐานแล้ว ยังทำให้สวีเดนมีพื้นที่ป่ามากถึง 80% ของพื้นที่ประเทศด้วย และประสบความสำเร็จในการทำให้คนในชุมชนมีอาชีพ พร้อมเพิ่มรายได้ถึง 5 เท่า ซึ่งโมเดลนี้กว่าจะประสบความสำเร็จใช้เวลากว่า 20 ปีในการพลิกฟื้นป่าเสื่อมโทรมให้กลายมาเป็นป่าชุ่มชื้นอีกครั้ง
สำหรับประเทศไทย สภาพป่าไม้ในปัจจุบันยังคงไม่ต่างไปจากเดิม มีพื้นที่แค่ 1 ใน 3 ของประเทศ และพื้นที่ของไม้เศรษฐกิจแทบจะไม่ค่อยมีและไม่ได้รับการควบคุม การลอบตัดไม้ทำลายป่าจึงยังคงมีอยู่ รวมไปถึงการรุกคืบพื้นที่ป่าด้วย ในพื้นที่ของกรมป่าไม้ ดังนั้น แม้ว่าสถานการณ์ป่าไม้ของไทยยังคงอยู่ในช่วง “คงที่” แต่การขยายอาณาเขตของเมืองและหมู่บ้านยังคงมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องนี่ยังน่าห่วง
อย่างไรก็ตาม จากโมเดลป่ายั่งยืนของสวีเดน ก็เป็นโมเดลที่ SCG ให้ความสนใจและจะนำไปพัฒนาต่อ ซึ่งนายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีเห็นประโยชน์จากโมเดลจัดการป่ายั่งยืนของสวีเดน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทย เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ลองศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ซึ่งเอสซีจีให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พื้นที่ป่าในการทำเหมืองปูนซีเมนต์ เพื่อให้ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ และขยายพื้นที่ป่าบก ป่าโกงกางและหญ้าทะเล
รวมถึงการจัดการน้ำเพื่อบำรุงรักษาให้ป่าอุดมสมบูรณ์ในโครงการ ‘รักษ์ภูผามหานที’ โดยได้เพิ่มพื้นที่ป่าไปแล้ว 1.2 ล้านต้น และสร้างฝายชะลอน้ำ 115,000 ฝาย ซึ่งช่วยชุมชนกว่า 306 ชุมชน 57,000 ครัวเรือน ทั่วประเทศ ใช้อุปโภค-บริโภคและการเกษตร ส่งต่อการจ้างงานกว่า 2,550 คน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้เพิ่มกว่า 5 เท่า โดยมีเป้าหมายปลูกป่า 3 ล้านไร่ 150,000 ฝาย เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 5 ล้านตัน มุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050 ตามแนวทาง ESG 4 Plus
นอกจากนี้ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์หรือเอสซีจีพี ที่มีการใช้ไม้ยูคาลิปตัสเป็นวัตถุดิบหลัก ได้นำระบบการบริหารจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) มาใช้กับพื้นที่ปลูกป่าเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมยูคาลิปตัสสายพันธุ์ใหม่ และใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพการปลูก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกษตรกรกว่า 3,800 ล้านบาทต่อปี
เอสซีจีเชิญชวนทุกภาคส่วน ทั้งในและต่างประเทศ มาร่วมกันศึกษา ต่อยอด และออกแบบการบริหารจัดการพื้นที่ป่าของประเทศไทยในรูปแบบใหม่ เพื่อให้มีพื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น และสามารถนำประโยชน์จากป่าไม้ไปสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและภูมิภาคได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป