svasdssvasds

วางทุ่นผูกเรือ แนวทางการอนุรักษ์ปะการัง ป้องกันเสียหายจากการท่องเที่ยว

วางทุ่นผูกเรือ แนวทางการอนุรักษ์ปะการัง ป้องกันเสียหายจากการท่องเที่ยว

ตอนนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยกำลังคึกคัก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาทำให้มีไหลเข้าประเทศ เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน กิจกรรมการท่องเที่ยวของมนุษย์ก็ส่งผลกับธรรมชาติ อย่าง ปะการังถูกทำลายจากสมอโดยที่เรือท่องเที่ยวไม่ใช้ทุ่นผูกเรือ

ล่าสุดในโลกออนไลน์ที่กำลังเป็นไวรัลสิ่งแวดล้อม ได้มีการแชร์ภาพความเสียหายของปะการังในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ที่พังเละเทะ ซึ่งคาดว่าเกิดจากเรือของบริษัทท่องเที่ยวจอดทับปะการัง เป็นการทำผิด พ.ร.บ.อุทยานฯ

Cr. FB: ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการประมงหรือการท่องเที่ยวทางทะเล เช่น ดำน้ำชมแนวปะการัง ทำให้เกิดการเหยียบย่ำปะการัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือท่องเที่ยวจอดเรือด้วยการทิ้งสมอแทนการใช้ทุ่นผูกเรือ ยิ่งส่งผลทำให้ปะการังเสียหายอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้าง ซึ่งการที่ปะการังที่ตายไปแล้วจะฟื้นฟูตัวเองให้แข็งแรงตามธรรมชาติ อาจใช้เวลา 25-30 ปีเลยทีเดียว

หลายคนคงสงสัยใช้ไหมว่าเมื่อปะการังถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายจะส่งผลทบอย่างไร? คำตอบคือทุกสิ่งในโลกล้วนเกี่ยวโยงกันเหมือนห่วงโซ่อาหาร  หากปะการังหายไปจะทำให้ทะเลเสียสมดุล ความหลากหลายทางระบบนิเวศจะลดลง และสัตว์ทะเลหลายชนิดจะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะปะการังเป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และแหล่งอนุบาลสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลนั่นเอง หนึ่งแนวทางการฟื้นฟูอนุรักษ์ปะการัง

นอกจากการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น การสร้างปะการังเทียม (Artificial reef) หรือการย้ายปลูกปะการัง (Transplantation) แล้ว การวางทุ่นผูกเรือเป็นอีกแนวทางอนุรักษ์ปะการัง

Cr. FB : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทุ่นผูกเรือ เป็นอุปกรณ์ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ใช้ในการรอนุรักษ์ปะการังมาเป็นเวลานานเพื่อใช้ทุ่นผูกเรือแทนการทอดสมอ ซึ่งป้องกันไม่ให้ปะการังเสียหายจาการทิ้งสมอเรือ นอกจากนี้การวางทุ่นผูกเรือยังเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบการจอดเรือชนิดต่างๆ  ทั้งเรือท่องเที่ยวและเรือประมงในพื้นที่แหล่งปะการัง

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

Cr. FB : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทุ่นผูกเรือในประเทศไทย มีการศึกษาและใช้มานานกว่า 20 ปี โดยในช่วงแรกการดำเนินการส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของกรมเจ้าท่าและกองทัพเรือ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นจุดจอดเรือ ต่อมาได้มีแนวคิดเกี่ยวกับการติดตั้งทุ่นผูก เรือเพื่อการอนุรักษ์แนวปะการังโดยเริ่มติดตั้งทุ่นสำหรับผูกเรือในแนวปะการังที่จอดเรือเป็นประจำเพื่อให้นักท่องเที่ยวลงดำน้ำชมปะการัง โดยที่ไม่ต้องทิ้งสมอเรือซึ่งส่งผลกับปะการัง

ประโยชน์ของการวางทุ่นผูกเรือ

  •  การวางทุ่นผูกเรือ ช่วยป้องกันการทิ้งสมอเรือทำลายแนวปะการังในกิจกรรมท่องเที่ยวและการประมง
  • ใช้ผูกเรือขนาดเล็กและขนาดใหญ่แทนการทิ้งสมอ
  • ใช้เป็นเครื่องมือในการขึ้นลงของนักดำน้ำและใช้พักน้ำ (Safety stop)
  • เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงแนวเขตปะการัง

Cr. FB : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง วิธีการใช้ทุ่นผูกเรืออย่างถูกวิธี

  • เมื่อต้องการจอดเรือกับทุ่นผูกเรือ ให้เข้าเกียร์ว่างใช้ตะขอเกี่ยวเชือกทุ่นขึ้นมาบนเรือ แล้วใช้เชือกของเรือผูกต่อจากห่วงของเชือกทุ่นให้ยาวที่สุด ซึ่งการนำเชือกทุ่นมาผูกกับเรือโดยตรงจะทำให้ชุดทุ่นมีอายุการใช้งานสั้น เนื่องจากเชือกทุ่นเสียดสีกับเรือในตำแหน่งเดียวกันบ่อยครั้ง
  • ข้อควรระวังอีกอย่างคือ หากตัวทุ่นลอยหลักจะกระแทกกับตัวเรือ จะทำให้ทุ่นผูกเรือเสียหาย
  • ไม่ควรต่อเชือกสั้นเกินไป เพราะจะทำให้แรงดึงของเรือส่งไปถึงจุดที่ใช้ยึดเชือกหลักโดยตรงเมื่อเรือเกิดการกระชากก็จะทำให้จุดที่ยึดทุ่นอยู่เสียหายได้ง่าย
  • ให้ผูกทุ่นกับเชือกทางหัวเรือ ซึ่งจะมีแรงดึงน้อยที่สุด การผูกทุ่นท้ายเรือหรือด้านข้างของเรือ จะเพิ่มแรงดึงของเรือเกินความจำเป็น โดยเฉพาะขณะมีกระแสน้ำหรือคลื่นลมแรง
  • เมื่อผูกกับทุ่นเรียบร้อยแล้วให้ดับเครื่องได้ทันที ห้ามเข้าเกียร์เพื่อเคลื่อนเรืออีก 
  • หากมีคลื่นลมแรงไม่ควรผูกกับทุ่นจอดเรือเพื่อชมปะการัง ถ้ามีความจำเป็นต้องผูก ต้องต่อเชือกให้ยาวที่สุด
  • ทุ่นหนึ่งลูกควรผูกเรือเพียงหนึ่งลำ ไม่ควรผูกต่อกันหลายๆ ลำจากทุ่นลูกเดียวกัน เพราะจะทำให้เกิดแรงดึงเกินความสามารถของทุ่น และทำให้ชุดทุ่นมีอายุการใช้งานสั้นลง
  • ควรใช้ทุ่นจอดเรือเพื่อชมปะการังเท่าที่จำเป็น เมื่อชมปะการังเสร็จแล้วควรออกจากทุ่นเพื่อให้ผู้อื่นได้มีโอกาสใช้ทุ่น
  • เมื่อเสร็จสิ้นการใช้ทุ่นแล้วและต้องการออกจากทุ่น ติดเครื่องยนต์ลดเชือกออกจากเชือกทุ่น เข้าเกียร์ถอยหลังหรือปล่อยให้เรือลอยออกห่างจากทุ่นลอยหลักแล้วเดินเรือออกไปโดยระมัดระวังไม่ให้ใบพัด ตัดเชือกทุ่นหรือฟันถูกทุ่นลอยหลัก


ที่มา : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง / มูลนิธิสืบนาคะเสถียร / FB : ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ / Spring News