ในวันที่โลกเดินหน้าสู่ความยั่งยืน แต่เมื่อไม่นานมานี้มีแคมเปญ บุฟเฟ่ต์ป๊อปคอร์น เอาอะไรไปใส่ก็ได้ จนสังคมมีคำถาม จะกลายเป็นขยะอาหารในที่สุดหรือไม่? มาวิเคราะห์กัน!
แม้ว่าทุกวันนี้ โลกธุรกิจยุคใหม่และอีกหลายแขนงกำลังมองหาเส้นทางสู่ความยั่งยืนกันอย่างเต็มกำลัง เพื่อช่วยให้โลกเดินหน้าไปได้อย่างมีคุณภาพและดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่กลับกัน ในด้านของผู้บริโภคสมัยใหม่ การทานบุฟเฟ่จะเป็นเรื่องปกติมาก ๆ ตามกลไกอย่างหนึ่งทางการตลาดกับผู้ที่ชอบทานอาหารในปริมาณมาก ๆ เพื่อแลกกับความคุ้มค่าของเงินที่เสียไป ที่จะกี่ยุคสมัยเงินก็ยังหายากเช่นเดิม
แต่เมื่อไม่นานมานี้ เกิดอีเวนต์การตลาดในลักษณะคล้าย ๆ บุฟเฟ่ต์ที่ได้จัดโปรโมชั่นบุฟเฟ่ต์ป๊อปคอร์น โดยมีแนวคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นมาว่า ผู้บริโภคจะเอาภาชนะอะไร ขนาดเท่าไหร่ไปใส่ก็ได้ ในราคา 199 บาท ซึ่งจากการจัดโปรโมชั่นนี้เองทำให้คนไทยในกรุงเทพฯแห่แหนกันไปใช้โปรโมชั่นอย่างล้นหลาม แต่ในด้านของสิ่งแวดล้อมล่ะ การจัดโปรโมชั่นแบบนี้ คุ้มค่าจริงหรือเปล่า? Springnews ในคอลัมน์ Keep The World ชวนมาวิเคราะห์ไปพร้อมกัน
*บทความนี้ไม่ได้ต้องการโจมตีหรือวิจารณ์องค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นการวิเคราะห์ในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันสัมพันธ์กับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กำลังเกิดขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน และการขอความคิดเห็นจากประชาชนว่าคิดเห็นอย่างไรบ้าง?
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ความคืบหน้านโยบาย ไม่เทรวม สิ่งแวดล้อมดีของกทม.ไปถึงไหนแล้ว?
ขับเคลื่อนการกำจัดขยะมูลฝอยในระดับจังหวัด พร้อมร่วมสร้างคาร์บอนเครดิต
ขยะ กับ จิตสำนึกคนทิ้ง : ปัญหาที่แก้ไม่ได้ หรือแก้ได้แต่ไม่แก้?
สตาร์ทอัพไทยเจ๋ง Oho! แอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร ช่วยรักษาโลกและสิ่งแวดล้อม
19 มกราคม วันป๊อปคอร์น (Popcorn Day) และประวัติ ข้าวโพดคั่ว ที่มาอันยาวนาน
บุฟเฟ่ต์ รูปแบบโปรโมชั่นทางธุรกิจ
การสร้างโปรโมชั่นเพื่อจูงใจผู้บริโภคไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร โดยเฉพาะกับบุฟเฟ่ต์ ที่หากถามว่าคุ้มทุนไหมก็ต้องไปถามผู้ประกอบการเลยว่า คุ้มจริงหรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่กฎของการทานบุฟเฟ่ต์นั้นจะมีราคาตั้งไว้กับการเลือกวัตถุดิบที่หลากหลาย แต่ก็มีข้อจำกัดหลายรูปแบบเช่นกัน เช่น การจำกัดเวลา หรือการทานไม่หมดก็จะปรับเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ก็ว่าไป เพื่อสร้างความพอดีให้กับการค้าขาย
ธุรกิจบุฟเฟต์นั้นมีจุดขายที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคส่วนใหญ่คือ ‘ความคุ้มค่า’ และมันคือการที่เราใช้เงินแบบเหมาจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งความหลากหลายและปริมาณตามที่ใจต้องการได้ โดยไม่ต้องพะวงกับงบที่อาจจะบานปลายจากการขายรูปแบบจานต่อจาน หรือ A La Carte
ซึ่งในบางครั้ง บุฟเฟ่ต์ไม่ได้มีเพียงแค่รูปแบบของอาหารเท่านั้น ยังมีบุฟเฟ่ต์ประเภทอื่น ๆ ที่ถูกคิดออกมาโดยผู้ประกอบการหลายแขนงมากมาย เช่น บุฟเฟ่ต์เครื่องสำอางค์ บุฟเฟ่ต์เสื้อผ้า เป็นต้น แต่ที่จะพูดถึงในบทความนี้คือโปรโมชั่นของบุฟเฟ่ต์อาหารจากอีเวนต์แจกป๊อปคอร์น ที่แตกต่างจากบุฟเฟ่ต์อาหารทั่วไป
ทำไมบุฟเฟ่ต์ป๊อปคอร์น จึงแตกต่างจากบุฟเฟ่ต์อาหารอื่น ๆ
บุฟเฟ่ต์ปิ้งย่างชาบู
บุฟเฟ่ต์ลักษณะนี้มีกลยุทธ์หลายอย่างเพื่อให้การบริโภคของผู้บริโภคนั้นคุ้มค่า และร้านค้าได้กำไร เช่น การตั้งราคาที่ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่าที่จะจ่าย และการลงท้ายราคาด้วยเลข 9 เป็นการตั้งราคาเชิงจิตวิทยา ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า จ่ายไม่แพงเท่าไรนัก เช่น บุฟเฟต์ราคา 199 บาท ลูกค้าจะรู้สึกว่าจ่ายเงินเพียงแค่หนึ่งร้อยกว่าบาทยังไม่ถึง 200 บาท และสามารถรับประทานเท่าไรก็ได้ตามกฎกติกาที่ร้านกำหนด
การถัวเฉลี่ยกำไรบนการบริหารต้นทุนวัตถุดิบที่พ่วงความเสี่ยงและการทำใจตั้งแต่การตั้งต้นว่าจะทำธุรกิจประเภทนี้ ซึ่งต้องคำนวนต้นทุนหลาย ๆ อย่าง คุณภาพ ปริมาณ และกำไรที่จะได้รับ ถือเป็นเรื่องที่ยุ่งยากพอตัว แต่หากมองในแง่ของปลายทาง อาหารเหลือทิ้งจะอยู่ในระบบของผู้ให้บริการหรือก็คือร้านค้าผู้ประกอบการเป็นผู้จัดสรร ดังนั้น จึงอาจไม่ต้องห่วงเรื่องกระบวนการจัดการเท่าไหร่นัก
บุฟเฟ่ต์ป๊อปคอร์น
บุฟเฟ่ต์ป๊อปคอร์น ก็มีลักษณะธุรกิจคล้าย ๆ กับบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง แต่แตกต่างกันตรงที่ไม่ได้ทำเป็นกิจจะลักษณะ แต่เป็นอีเวนต์ที่จัดขึ้นมาเพียงหนึ่งครั้ง เพื่อสร้างภาพจำให้กับแบรนด์หรือองค์กร และที่อตกต่างกันอีกข้อคือการให้บุฟเฟ่ต์แบบนำกลับบ้านได้ ในปริมาณเท่าไหร่ก็ได้ตามภาชนะที่คุณพบมา นั่นจึงทำให้กระบวนการกำจัดนั้นแตกต่างจากบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง เนื่องจาก บุฟเฟ่ต์อาหารที่นำกลับบ้าน ผู้บริโภคต้องเป็นผู้กำจัดเอง ด้วยวิธีใดก็ได้ตามความสะดวก
จุดเริ่มต้นของบุฟเฟ่ต์ป๊อปคอร์นไม่ได้เกิดขึ้นที่ไทยที่แรกและที่เดียว
ในความเป็นจริง เท่าที่ผู้เขียนทราบ จุดเริ่มต้นของโปรโมชั่นแนวคิดใหม่นี้มาจากเวียดนาม เพราะเห็นข่าวรำไรเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งเป็นโปโมชั่นสุดครีเอทของโรงหนังค่ายหนึ่งในเวียดนามที่ดึงคนเข้าโรงหนัง ด้วยการจัดโปรโมชั่น เอาภาชนะอะไรมาใส่ป๊อปคอร์นก็ได้ เพียงแค่ลูกค้าซื้อตั๋วชมภาพยนตร์เท่านั้น
ซึ่งก็สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการลดแลกแจกแถมเลยทีเดียว ในด้านการประชาสัมพันธ์ทั้งป๊อปคอร์นของโรงหนัง ตัวโรงหนัง และหนังที่กำลังเข้าฉายในช่วงเวลานั้น แถมยังเปิดให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ โดยคาดหวังเพิ่มเติมด้วยว่าจะไม่เป็นการเพิ่มขยะพาชนะจากโรงหนัง เพราะลูกค้าพกภาชนะมาเอง
โปรโมชั่นนี้ผลักภาระให้ใคร? และไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร
ในมุมมองของผู้เขียนมองว่า แม้โปรโมชั่นนี้จะสร้างเสียงชื่นชมมากมายจากผู้บริโภคในด้านของความคุ้มค่าที่ได้ป๊อปคอร์นจำนวนมาก แลกกับเงินจำนวนหนึ่งซึ่งก็ถือว่าอยู่ในปริมาณที่พอรับได้ แต่ในด้านของปลายทางของป๊อปคอร์น มองว่าการจัดการแต่ละคนไม่เหมือนกันและเสี่ยงที่จะกลายเป็นขยะอาหาร (Food Waste) ได้ในที่สุด
ทำไมเทศกาลป๊อปคอร์นจึงสามารถเกิด Food Waste ได้
ประการที่หนึ่ง คำถามสำคัญที่หลายคนถามและผู้ขียนเองก็สงสัย คือ คนที่ซื้อไปปริมาณมาก ๆ ทานป๊อปคอร์นทั้งหมดนั้นหมดเหรอ? การได้มาซึ่งอาหารปริมาณมากแบบนี้ คือส่วนหนึ่งของคำว่า ‘เกินความพอดี’ ซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับความยั่งยืนที่หลายฝ่ายกำลังมุ่งหน้าไป
ประการที่สอง ผู้เขียนเห็นด้วยกับคุณ Konggreengreen อินฟลูเอนเซอร์ด้านการจัดการขยะให้ถูกต้องที่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อแคมเปญ บุฟเฟต์ป๊อปคอร์นแบบนี้ด้วย ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยในประเด็นที่ว่า การตลาดแบบนี้ทำให้ปลูกฝังความคิดให้กับผู้บริโภคว่า เยอะ+กอบโกย+ไม่อั้น เท่ากับ คุ้มค่าสุด ๆ อีกทั้งทำให้ผู้คนเห็นคอนเทนต์ดีกว่าคุณค่าของอาหารด้วย และมันเกินคำว่า ‘พอดี’ ไปมาก
หรือลองไปอ่านข้อคิดเห็นของคุณก้องได้ที่ >>>
ประการที่สาม การจัดการขยะอาหารของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทุกวันนี้ไม่ว่ารัฐบาลหรือภาคเอกชนที่ติดตามเรื่องสิ่งแวดล้อมและพยายามผลักดันเรื่องการทิ้งขยะอาหารให้ถูกต้องและปลอดภัย แต่ส่วนใหญ่ผู้คนในประเทศไทยยังไม่ได้มีการแยกขยะอาหารกันอย่างถูกต้องซะทีเดียว และเราไม่อาจรู้ว่า คนที่มาซื้อป๊อปคอร์นจำนวนมากนี้จะจัดการป๊อปคอร์นทั้งหมดอย่างไร ให้สามารถแยกเก็บไว้ใช้กินได้ในระยะยาว ซึ่งก็ต้องจัดเก็บดี ๆ เลยแหละถึงจะเก็บไว้ได้นานขนาดนั้น เนื่องจากผู้เขียนก็เคยซื้อป๊อปคอร์นมาทาน และใส่ในถุงซิปล็อก แต่หากผ่านไปสักระยะเวลาหนึ่งก็ทำให้อาหารเหี่ยวได้ ไม่กรอบเหมือนช่วงแรก ๆ
หรือหากมีการจัดการด้วยการแจกจ่ายไปก็ถือว่าจัดการได้ดี หากสามารถจัดการได้หมดและคนที่ได้รับไปทานจนหมด ก็จะไม่ก่อให้เกิดขยะอาหารได้ แต่หากทิ้งให้กลายเป็นขยะอาหาร แน่นอนว่าความคุณค่าของป๊อปคอร์นหายหมดแน่ ๆ และก่อให้เกิดความเสี่ยงในกระบวนการจัดการขยะอาหารที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
ประการที่สี่ จะดีกว่ามาก ถ้าแบรนด์ส่งเสริมให้คนนำภาชนะไปเองแลกกับส่วนลดหรือราคาพิเศษ เพราะโปรโมชั่นลักษณะนี้จะทำให้ลดขยะได้จากทุกทาง โดยเฉพาะขยะพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single use plastic)
สรุปโดยผู้เขียน
ในขณะที่การตลาดของแบรนด์ต่าง ๆ พยายามทำทุกวิถีทางงเพื่อตามกระแสโลก โดยเฉพาะกระแสของความยั่งยืนและการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่การออกโปรโมชั่นต้องคิดให้รอบด้านและไม่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมด้วย แต่จะดีที่สุดคือการไม่สร้างขยะเลยตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง แม้จะเป็นเพียงเทศกาลที่เกิดขึ้นเพียงวันเดียวเท่านั้น แต่ขยะที่เกิดขึ้นอาจใช้เวลาในสิ่งแวดล้อมนานกว่าที่คุณคิดในการสลายหายไป
คุณล่ะคิดเห็นอย่างไรกับโปรโมชั่นนี้?
เรียนรู้เพิ่มเติม เรื่องธุรกิจบุฟเฟต์คุ้มทุนจริงไหม? ทำยังไงให้คุ้มทุน >>> ชาบู บุฟเฟต์ ขายดีแค่ไหน และอะไรคือกลยุทธ์ที่สำคัญในธุรกิจนี้