svasdssvasds

ดร.เสรี ชี้ "น้ำท่วม 2565" ไม่เท่าฝันร้ายน้ำท่วม 54 แต่วิกฤต - ยืดเยื้อ

ดร.เสรี ชี้ "น้ำท่วม 2565" ไม่เท่าฝันร้ายน้ำท่วม 54 แต่วิกฤต - ยืดเยื้อ

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ชี้ "น้ำท่วม 2565" อาจไม่กลับมา เหมือนฝันร้ายน้ำท่วมปี 54 แต่วิกฤต - ยืดเยื้อ จากพายุจรที่ยังไม่หมด และปริมาณน้ำ ที่ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา

  รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ระบุว่า จากข้อมูลที่เคยให้ไว้ ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝนปีนี้ จะมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี มีบางท่านกลับต่อว่าจะเกิดขึ้นได้ไง อาจารย์เอาอะไรมาพูด แล้วขณะนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร? วิกฤตเกิดขึ้นหรือยัง? ผมปฏิเสธข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ผมไม่เคยเห็นเหตุการณ์เขื่อนขนาดใหญ่ กลาง เล็ก มีปริมาณน้ำมากขนาดนี้ ชุมชนหลายแห่งประสบความเสียหายหนักกว่าปี 2554 ถ้าผมไม่ออกมาให้ข้อมูลจะเสียหายมากกว่านี้ เพราะถ้าเราเริ่มจากความพร้อมของชุมชน ผลกระทบย่อมลดลงอย่างแน่นอน

 รศ.ดร.เสรี ระบุว่า ปริมาณน้ำที่ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ได้แตะระดับปี 2564 ส่งนัยความเสียหายเข้าขั้นวิกฤต (แต่ไม่ถึงปี 54 เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือปัจจุบันมีน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ยกเว้นบางพื้นที่ระดับน้ำสูงกว่าปี 54 แล้ว เช่นที่บางบาล เป็นต้น) และจะยืดเยื้อไปอีกหลายสัปดาห์ จากปริมาณน้ำเหนือผ่านนครสวรรค์ยังคงเพิ่มขึ้น และหลายเขื่อนมีน้ำล้น หลายชุมชนในลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูลได้รับผลกระทบแบบโดมิโน จากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในขณะที่การคาดการณ์แนวโน้มปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางจนถึงปลายเดือนเดือนตุลาคมนี้ จากอิทธิพลของพายุจรที่ยังไม่หมด (ลูกแรกน่าจะส่งผลกระทบช่วงกลางเดือนนี้ และจะมีหย่อม Low เกิดขึ้นในอ่าวไทย อิทธิพลของความกดอากาศสูงจากแผ่นดินใหญ่ทำให้ลดความรุนแรงลง จึงต้องติดตามเป็นรายสัปดาห์)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• รศ.เสรี เตือนช่วงนี้-กลางเดือน Golden Week เร่งระบายน้ำ เตรียมรับมือฝนถล่ม

• เสรี ศุภราทิตย์ เตือนภาคอีสาน เตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากพายุโนรู

• เช็กระดับน้ำพื้นที่ กทม. จุดไหนวิกฤตบ้าง ? ภายนอก-ภายในคันป้องกันน้ำท่วม

 ส่วนกรุงเทพและปริมณฑลจะวิกฤตสุด 2 ช่วง (ช่วงแรกกลางเดือน และช่วงที่สองปลายเดือน) บริเวณชุมชนริมน้ำ ลำคลอง จากปริมาณฝนที่ยังคงมีต่อไปในเดือนนี้ น้ำเหนือจะเดินทางมาถึงช่วงแรกกลางเดือน และช่วงที่สองปลายเดือน (จากพายุจรหลังกลางเดือนนี้) จังหวะเวลาเดียวกันกับอิทธิพลน้ำหนุนกลางเดือน และปลายเดือนสูงสุด จึงต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์

 ช่วงเฝ้าระวังสูงสุด (จากนี้จนถึงปลายเดือนตุลาคม) จึงได้ออกสำรวจรอบ ๆ บริเวณคลองด่านหน้า กทม. ฝั่งตะวันออก (คลองรังสิต) ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์น้ำล้นคลองมาแล้ว (ต้นเดือนกันยายน) และเพิ่งจะล้นครั้งที่ 2 (เมื่อวันที่ 2-3 ตุลาคม) มีน้ำท่วมถนนเรียบคลองข้างเมืองเอก ระดับน้ำในคลองรังสิตอยู่สูงกว่าระดับถนนในหมู่บ้านประมาณ 1.0-1.4 m (แต่ยังต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำประมาณ 0.80-1.0 m) และต่ำกว่าระดับถนนซ่อมสร้าง 0.30 m เทศบาลหลักหกได้นำกระสอบทราย และกรมชลประทานเร่งสูบน้ำ (ปัจจุบันความสามารถเครื่องสูบน้ำทั้ง 2 ประตู คือประตูน้ำจุฬาฯ และประตูน้ำปลายคลองมีประมาณ 120 cms) ซึ่งทำหน้าที่แบ่งน้ำลงเจ้าพระยาตั้งแต่คลอง 1-13 และแบ่งน้ำลงแม่น้ำนครนายก ตั้งแต่คลอง 13 เป็นต้นไป ในขณะเดียวกันระดับน้ำในคลองเปรมประชากรยังคงต่ำกว่าถนนเรียบคลองประมาณ 0.30-0.50 m (มีการสูบน้ำย้อนกลับจากคลองเปรมใต้สู่คลองรังสิต) การประเมินเบื้องต้นปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่เหนือคลองรังสิตกว่า 200,000 ไร่ มีปริมาณ 200 cms ต่อปริมาณฝนตก 100 mm ดังนั้นความสามารถเครื่องสูบน้ำจึงยังคงไม่เพียงพอ แต่ก็สามารถบรรเทาได้ขึ้นกับปริมาณฝนตก โดยในการปฏิบัติงานจริงต้องมีการสำรองเครื่องไว้จำนวนหนึ่ง จึงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

related