กลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมของอิตาลี เปิดเผยว่า ธารน้ำแข็งอัลไพน์ ละลายหายไปมากกว่า 200 แห่ง เป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน
เลแกมเบียนเต (Legambiente) กลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมของอิตาลี เปิดเผยว่า ธารน้ำแข็งอัลไพน์ (Alpine glaciers) ในอิตาลีละลายหายไปมากกว่า 200 แห่ง นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกสถิติเมื่อปี 1895
รายงาน "คาราวานแห่งธารน้ำแข็ง" (Caravan of the Glaciers) ฉบับที่ 3 ระบุว่าสิ่งนี้ยืนยัน "การเสื่อมถอยอย่างฉับพลันของธารน้ำแข็งอันเป็นผลจากวิกฤตสภาพอากาศ" โดยอุณหภูมิบนเทือกเขาแอลป์ (Alps Mountain) เพิ่มขึ้นเร็วสองเท่าเหมือนอุณหภูมิที่ระดับน้ำทะเล ส่วนหิมะบนพื้นดินลดลงทุกปีตั้งแต่ปี 2012
เลแกมเบียนเต ชี้ว่า รายงานฉบับนี้ถูกจัดทำขึ้นร่วมกับคณะกรรมการธารน้ำแข็งวิทยาของอิตาลี เพื่อเป็นแนวทางแก่เหล่าผู้กำหนดนโยบายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
รายงานระบุว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบตามมาเป็นวงกว้าง โดยการหดตัวอย่างรวดเร็วของธารน้ำแข็งแนวหน้านำสู่การสูญเสียภูมิประเทศและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการสูญเสียแหล่งน้ำจืดที่สำคัญอีกด้วย
การขาดแคลนน้ำจืดที่มาจากแหล่งธารน้ำแข็ง ถือเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดภัยแล้งที่ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของอิตาลี และภัยคุกคามที่ลดผลผลิตการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ตอนเหนือของอิตาลี เนื่องด้วยน้ำจากธารน้ำแข็งเป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศท้องถิ่น
ผลกระทบตามมาที่น่ากังวลอีกประการเกี่ยวพันกับความปลอดภัยของสาธารณชน หลังมีรายงานนักปีนเขาเสียชีวิตในเหตุน้ำแข็งและหิมะถล่มรุนแรงจากธารน้ำแข็งละลายที่ภูเขามาร์โมลาดา (Marmolada) ของเทือกเขาโดโลไมต์ (Dolomites) จำนวน 11 ราย เมื่อเดือน ก.ค. ซึ่งทางการและผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าสาเหตุหนึ่งมาจากอุณหภูมิพุ่งสูง