รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ชี้ ระดับน้ำทะเลหนุนสูงยังส่งผลให้น้ำท่วมภาคใต้ลดระดับได้ยากลำบาก พร้อมย้ำถึงความสำคัญของระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้นก็ต้องสูญเสียกันทุกปี
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต และรองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวสปริงนิวส์ ระบุว่า
ตอนนี้ยังประเมินสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ได้ยาก เพราะต้องอาศัยข้อมูลจากหน่วยงานท้องถิ่น แต่จากที่เคยคาดการณ์เบื้องต้น ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงตั้งแต่วันที่ 16-18 ธ.ค. ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท่วมยังลดลงได้ยาก แต่หากผ่านพ้นช่วงนี้ไป สถานการณ์ในช่วงปลายปีก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงแล้ว
สิ่งที่ยังเป็นกังวลตอนนี้คือระบบเตือนภัยซึ่งอยากให้มีการปรับปรุงเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยรศ.ดร.เสรี ได้โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ค ระบุว่า การประเมินความเสี่ยง และความรุนแรงน้ำท่วมเมือง น้ำไหลหลากของท้องถิ่น โดยเฉพาะแต่ละจังหวัดสำคัญมาก เพราะจะนำมาซึ่งแผนเตรียมความพร้อม แผนตอบโต้สถานการณ์ แผนการอพยพ แผนการจัดเตรียมกำลังคน เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างนี้อีกต่อไป
โดยการเตือนภัย จะต้องประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ดังนี้
1) องค์ความรู้ด้านความเสี่ยง
2) การติดตามสถานการณ์ และแจ้งเตือน
3) ช่องทางการสื่อสารความเสี่ยง
4) การประเมินความสามารถในการรับมือ
แต่สิ่งที่หน่วยงานของไทยปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ มีเพียงองค์ประกอบข้อ 2) อย่างเดียว จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินตามมาอย่างไม่สามารถประเมินค่าได้
ดังนั้นรัฐต้องพัฒนาหรือส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีระบบเตือนภัยตัวเอง เพราะท้องถิ่นคือเจ้าของบ้าน ได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรก ท้องถิ่นขาดอะไรในองค์ประกอบทั้ง 4 ด้าน ร้ฐก็ต้องจัดให้ ไม่เช่นนั้นเราก็จะอยู่กันอย่างนี้ต่อไป ปีถัดไปค่อยว่ากันใหม่ สูญเสียกันใหม่อีกครั้ง