การกลับมาของปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งที่รุนแรงกว่าในอดีต ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่โดนผลกระทบรุนแรงที่สุดในรอบ 74 ปี จะทำให้รายได้ต่อหัวลดลง 5.0-7.5% ทางภาครัฐจะมีวิธีรับมือและวิธีการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคเกษตรอย่างไร?
จากการคาดการณ์อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการกลับมาของปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่ทวีความรุนแรงขึ้น และเกิดขึ้นอย่างยาวนานในภูมิภาคแปซิฟิก โดยปรากฏการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน 12-18 เดือน ส่งผลทำอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น และกระทบต่อประเทศที่ประสบปัญหาจากสภาพอากาศแต่เดิมอยู่แล้ว เช่น คลื่นความร้อน ภัยแล้ง และไฟป่า
มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในรอบ 74 ปี ทำให้รายได้ต่อหัวลดลง 5.0-7.5% และในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรอันดับต้นๆ ของโลก จึงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและปรากฎการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบให้เกิดความแห้งแล้ง ซึ่งอาจส่งผลกับภาคการเกษตร
ทางด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ถึงทิศทางและการการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรับเมืองเอลนีโญในประเทศไทย
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
เริ่มแล้ว! นาซาพบสัญญาณเอลนีโญจากอวกาศ โอกาสเกิดภัยแล้งในปีนี้ 90%
ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า ในภาพรวมทาง กอนช. ได้มีการประเมินสถานการณ์ว่ามีแนวโน้มที่จะเข้าสู่เอลนีโญ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 จำนวน 12 มาตรการรับมือฤดูฝน มีดังนี้
1. คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่องช่วงฝนทิ้งช่วง (มี.ค. 66 เป็นต้นไป)
2. การบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก (ภายใน ส.ค. 66)
3. ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ หรือเขื่อนระบายน้ำและจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำเชิงบูรณากา
4. เตรียมความพร้อม ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคาร ชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร ให้พร้อมใช้งาน และปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ
5. เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ บุคลากร ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง
6. ตรวจความมั่นคงปลอดภัย ตัน ทำนบ พนังกั้นน้ำ
7. ติดตามประเมินผล ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยตลอดช่วงฤดูฝน
8. การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
9. สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์
10. เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำ ในแหล่งน้ำทุกประเภท
11. ชักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ
12 .เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำ
อีกทั้งยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้มาตรการดังกล่าว เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในฤดูฝน และมาตรการรับมือฝนทิ้งช่วง ได้แก่
1.เตรียมหน่วยงานต่างๆ เตรียมพร้อมในเรื่องเครื่องจักรและเครื่องมือในการที่จะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ที่มีโอกาสฝนทิ้งช่วง
2.กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ก็ได้เตรียมความพร้อม โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรที่อาศัยน้ำฝน ส่วนในพื้นที่เกษตร กรมชลประทาน ไม่มีปัญหา เพราะน้ำในเขื่อนปีที่ผ่านมาภาคเกษตรเก็บกักไว้ เพราะฉะนั้นในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงกรมชลประทานก็สามารถที่จะเอาน้ำมาช่วยเหลือในพื้นที่การเกษตรได้อยู่แล้ว
ดร.สุรสีห์ ยังเปิดเผยอีกว่า “ได้มีการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตว่าเห็นสมควรที่จะบริหารน้ำข้ามไปถึงปี 2567 เพราะจะแค่บริหารจัดการน้ำแค่ปีเดียวไม่ได้ เพราะจะเป็นเอลนีโญต่อเนื่องไปก็จะทำให้การบริหารจัดการน้ำต้องอย่างน้อย วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 จะต้องมีน้ำให้มากที่สุดเพื่อจะรองรับในฤดูแล้งปี 2568 เพราะฉะนั้น ในปีแล้งปี 2567 มีแนวโน้มอาจจะขอให้งดทำนาปรัง”
หากในกรณีที่ไม่มีฝน หรือเก็บกักน้ำไม่ได้ อาจต้องขุดน้ำใต้ดินมาใช้เพิ่มมากขึ้นก็ได้มีการเจรจากับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลไว้เรียบร้อยแล้วให้ เตรียมแผนขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติมซึ่งมีมีปริมาณกว่า 4 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร
ปัจจุบันใช้กว่า 1 หมื่นลูกบาศก์เมตร เพราะฉะนั้นยังเหลืออีกกว่า 3 หมื่นล้านที่จะพัฒนานำมาใช้ได้ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าประเทศไทยยังอุดมสมบูรณ์ เพียงแต่ว่าเราจะบริหารกันอย่างไร และเชื่อว่าไม่วิกฤติรุนแรง แต่ก็ไม่ประมาท