ฝรั่งเศส เตรียมออกมาตรการจำกัดการใช้น้ำในพื้นที่หลายส่วนของประเทศตั้งแต่เดือน มี.ค. 2023 เป็นต้นไป ซึ่งเรื่องแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเป็นปกติ เพราะ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงเวลานี้ของปี
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า คริสตอฟ เบชู Christophe Bechu รัฐมนตรี สิ่งแวดล้อมฝรั่งเศส ให้ความเห็นว่า เทศบาล 87 แห่งทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส มีการจำกัดการรดน้ำและการชลประทานไป แล้ว ซึ่งตามปกติ เรื่องการจำกัดน้ำจะเกิดขึ้นในฤดูร้อน ไม่ใช่ฤดูหนาว อย่างช่วงเวลานี้
อีกทั้งจะมีการประชุมกับบรรดาเจ้าหน้าที่ เพื่อพิจารณาการขยายเวลามาตรการออกไปด้วย , ซึ่ง การที่ฝรั่งเศสต้องเจอกับปัญหาขาดแคลนน้ำ ส่วนหนึ่งนั่นก็เป็นเพราะว่าโลกของเราร้อนขึ้น และฝรั่งเศส ต้องเจอกับฤดูหนาวแห้งแล้งที่สุดนับตั้งแต่ปี 1959 เลยทีเดียว
ทั้งนี้ แม้ว่า ทางการฝรั่งเศส จะไม่ได้ระบุถึงมาตรการที่นำมาใช้ แต่เขากล่าวว่า มันจะเป็นแบบ “นุ่มนวล” และจะดำเนินการไปตามกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อจำเป็นในพื้นที่เฉพาะ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการฉุกเฉินที่เข้มงวดจนใกล้เคียงกับช่วงฤดูร้อน เช่น การจำกัดการเติมน้ำลงสระว่ายน้ำในบางพื้นที่
มีการเปิดเผยตัวเลขว่า ปริมาณการกักเก็บน้ำของฝรั่งเศส ณ เวลานี้ อยู่ในระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับปี 2022 โดยต่ำสุดเป็นอันดับ 2 ในรอบ 10 ปี ขณะที่ปริมาณหิมะบนเทือกเขาแอลป์ก็ต่ำเช่นกัน เนื่องจากความแห้งแล้งเป็นพิเศษในปีที่แล้ว โดยในปีที่แล้ว ฝรั่งเศส ขึ้นแท่น มี ‘ปีร้อนสุด’ เป็นประวัติการณ์ อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ด้านบริการอุตุนิยมวิทยาของฝรั่งเศส “เมโทร-ฟรานซ์” กล่าวว่า ปริมาณน้ำฝนในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการทำให้น้ำบาดาลและแม่น้ำกลับสู่ระดับปกติก่อนถึงฤดูร้อน
ส่วนเกษตรกรของประเทศกำลังจับตาดูว่า ฝนที่มีการพยากรณ์ไว้เมื่อวันพุธที่ผ่านมา จะบรรเทาความแห้งแล้งก่อนถึงฤดูเพาะปลูกได้หรือไม่ เนื่องจากมีความกังวลว่า พืชผลที่ปลูกในฤดูใบไม้ผลิอาจประสบกับภาวะขาดน้ำ
ทั้งนี้ ฝรั่งเศส ไม่ใช่ประเทศเดียวในยุโรปที่ต้องเจอกับ ปํญหาขาดแคลนน้ำ ปัญหาภัยแล้ง เพราะ ช่วงเวลาก่อนหน้านี้ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนก็กำลังเด่นชัดขึ้น จนเมืองแห่งน้ำที่ขึ้นชื่อ อย่างเวนิช ในอิตาลี อีกหนึ่งประเทศในยุโรป ก็มีภาพของผลกระทบอย่างชัดเจน เพราะเมืองเริ่มกลายเป็นเมืองไร้น้ำ
ภาพคลองเวนิชในอิตาลีเผชิญกับสภาพอากาศแห้งแล้งของฤดูหนาวหลายสัปดาห์ และคาดว่าปีนี้จะเผชิญภัยแล้งอีกครั้ง หลังปีที่แล้วก็เผชิญภัยแล้งหนักสุดในรอบหลายปี เพราะเทือกเขาแอลป์มีหิมะตกน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของปกติ ตามรายงานของนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม