“ขยะ” เป็นสิ่งที่ถูกมองว่าไร้ค่าและสร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อม ตอนนี้มุมมองของขยะจะเปลี่ยนไปไม่ใช่แค่วัสดุเหลือทิ้ง แต่ถูกทำให้กลายเป็นทรัพยากรทดแทนที่มีคุณค่า
ปตท. ใช้นวัตกรรมเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นทรัพยากรหรือวัสดุทดแทน โดยร่วมกับ 8 นักออกแบบชื่อดังสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และของแต่งบ้านจากขยะที่ถูกทิ้ง โดยนำเสนอผลงานอัพไซเคิลผ่านงานนิทรรศการ “Waste is MORE” ซึ่งจัดขึ้นที่ อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 4 - 12 กุมภาพันธ์ 2566
นิทรรศการ “Waste is MORE” มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นให้เห็นถึงการพัฒนาศักยภาพของขยะ ที่เคยถูกมองว่าไร้ค่า ให้กลายเป็นวัสดุทดแทนที่ไม่ไร้ค่าและมีคุณค่า โดย ปตท. พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันศักยภาพของนวัตกรรมการวิจัย และการออกแบบของคนไทยให้เติบโตไปแข่งขันในเวทีระดับโลก อีกทั้งยังเป็นการคำนึงถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งโครงการ MORE โดย ปตท. มีความตั้งใจที่จะใช้วัสดุเหลือทิ้ง หรือ “ขยะ” ที่ถูกมองข้าม นำมาทำเป็นวัสดุทดแทนที่มีประโยชน์ นอกจากจะเป็นการลดปริมารณขยะแล้ว ยังช่วยสร้างมูลค่าและเป็นการขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจแบบ BCG อีกด้วย
โครงการ MORE เกิดจากความร่วมมือระหว่างทีมวิจัยจากสถาบันนวัตกรรม ปตท. และ บริษัท เอช จี เนกซ์ จำกัด ผู้ออกแบบ ผลิต และจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ โดยมุ่งวิจัย ออกแบบ พัฒนาต่อยอดในการเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นทรัพยากรทดแทนที่มีคุณค่า เติมเต็มช่องว่างของการค้นหาทรัพยากรใหม่ๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัดในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับ 8 นักออกแบบ ได้แก่ MORE, o-d-a, NUTRE JEWELLER, Kitt.ta.khon, mitr., TAKORN TEXTILE STUDIO, Designerd และ Spirulina Society โดยนำวัสดุเหลือทิ้ง อย่าง เยื่อกาแฟ มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงเครื่องประดับ
นักออกแบบทั้ง 8 แบรนด์ ได้รังสรรค์ผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือทิ้งที่แตกต่างกัน
เริ่มต้นจากแบรนด์ MORE ที่ดีไซเนอร์ร่วมกับนักวิจัยวัสดุใช้วัสดุจากเศษ ใบอ้อย จากอุตสาหกรรมน้ำตาลที่อาจโดนเผาหรือฝังกลบจนก่อให้เกิดปัญหามลพิษ นำมาอัพไซเคิลเป็นวัสดุทดแทนใช้ในการสานเป็นผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้าน ตะกร้า ถาด และแผงกั้น
o-d-a สตูดิโอออกแบบผู้เชี่ยวชาญเรื่องไม้ ได้ทำงานร่วมกับผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ทั้งในและต่างประเทศ นำฝุ่นไม้ซึ่งได้จากขั้นตอนการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งสร้างฝุ่นไม้ เกือบ 1 ตันต่อเดือน ปลายทางถูกกำจัดเป็นเชื้อเพลิงเผาไหม้ ซึ่งอาจทำให้เกิดมลภาวะ o-d-a นำฝุ่นไม้มาทำเป็นวัสดุทดแทน และบอกเล่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นม้านั่งยาวที่มีรูปทรงของไม้
NUTRE JEWELLER นักออกแบบเครื่องประดับที่มีประสบการณ์ในการออกแบบเครื่องประดับร่วมสมัยมากว่า 15 ปี ครีเอตโดยผ่านการผสมผสานศิลปะเครื่องประดับดั้งเดิมเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยใช้ฝาขวดน้ำ
Kitt.ta.khon แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานหัตถกรรมหวายที่ผสานวิถีแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่เข้าด้วยกัน เกิดเป็นการออกแบบร่วมสมัยที่แฝงไปด้วยกลิ่นอายจากวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งวัสดุทดแทนหวายที่นำมาสานเป็นเก้าอี้นั่งเดี่ยวหลังทรงสูง ทำมาจากหวายจากเยื่อกาแฟ
MITR. กลุ่มเพื่อนนักออกแบบที่รวมตัวกันจาก หลากหลายสาขาวิชาอาชีพ ใช้อะลูมิเนียมฟอยล์จากกล่องยูเอชที ซึ่งเป็นขยะเหลือทิ้ง 75,000 ตันต่อปี นำมาทำเป็นวัสดุทดแทนที่สามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นของใช้หรือของแต่งบ้านดีไซน์เก๋ อย่างเช่น กระถางต้นไม้
TAKORN TEXTILE STUDIO อาจารย์ และนักสร้างสรรค์ งานสิ่งทออิสระ ที่ upcycling วัสดุทดแทนจากฝุ่นผ้าทอ ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ที่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ นำมารังสรรค์ใหม่เป็นของแต่งบ้านมีดีไซน์ เช่น โคมไฟเพดาน
Designerd สตูดิโออกแบบที่มีส่วนผสมของนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และนักออกแบบกราฟิก ได้นำ PVC วัสดุแปรรูปจากพลาสติกในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ที่มีเศษพลาสติกชิ้นเล็กเหลือทิ้งมากมาย ถูกทำมาแปรรูปและถ่ายทอดใหม่เป็นชุดโต๊ะชุดชิคที่ประกอบด้วยโต๊ะกลาง โต๊ะข้าง และถาดวางสิ่งของ
Spirulina Society แบรนด์ของแต่งบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำเปลือกไข่ของเหลือทิ้งใกล้ตัว มาเข้าสู่กระบวนการพิมพ์ 3 มิติและขึ้นรูปทรงด้วยเทคนิคเป่าลมร้อน ชุบชีวิตของเหลือใช้ให้กลายเป็นของใช้และของแต่งบ้าน อย่าง เชิงเทียน แจกัน และถ้วยวางไข่ต้ม
นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมใน 3 มิติไปพร้อมกัน อันประกอบไปด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือ BCG ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมชุมชนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญของการเสริมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ จึงได้จัดตั้งโครงการ MORE ร่วมกับ บริษัท เอช จี เนกซ์ จำกัด โดยมุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยและออกแบบวัสดุเหลือใช้ ให้สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยนวัตกรรมการพัฒนาวัสดุด้วยกระบวนการ Upcycling วัสดุเหลือใช้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณค่าและมูลค่าเพิ่มขึ้น
นิทรรศการ Waste is MORE นี้ เป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 - 12 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก กรุงเทพมหานคร ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Page : waste.wasteismore