ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ เร่งติดตั้งเครื่องบำบัดฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด 13 เครื่อง เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ หวังคนไทยมีอากาศสะอาด หายใจได้เต็มปอด
ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องบำบัดฝุ่น PM 2.5 จำนวน 2 เครื่อง เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ที่กรมอู่ทหารเรือได้ดำเนินการจัดสร้างขึ้น บริเวณลานจอดรถฝั่งด้านหน้านันทอุทยานสโมสร กองบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนมาใช้บริการและออกกำลังกายเป็นจำนวนมาก โดยในเบื้องต้นจะดำเนินการติดตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 13 เครื่อง
โดยการติดตั้ง เครื่องบำบัดฝุ่น PM 2.5 นี้ ถือเป็นการสนับสนุนการแก้ไขปัญหา และลดต้นเหตุการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่เขตเมืองพื้นที่ชุมชนที่มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
สำหรับเครื่องบำบัดฝุ่น PM 2.5 และกำจัดเชื้อโรค ทางกรมอู่ทหารเรือ ได้ต่อยอดเครื่องบำบัดฝุ่น PM 2.5 เเละ กำจัดเชื้อโรคจากเครื่องต้นเเบบของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
โดยตั้งเป็นคณะทำงานโครงการสร้างเครื่องบำบัดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งผลจากการทดลองในห้องทดลอง อู่ทหารเรือธนบุรี ด้วยควันที่มีความเข้มข้น PM 2.5 สูงกว่า 6000 PPM ที่อัตราการบำบัด 4 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระบบการกรอง Hight Efficiency Particulate Air ใช้เวลา 30 นาที ในห้องทดลองขนาด 4x6x6 เมตร ปริมาตร 144 ลูกบาศก์เมตร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โดยประสิทธิภาพของเครื่องบำบัดฝุ่น PM 2.5 นั้น ผลลัพธ์มากกว่า 90% ได้คุณภาพอากาศได้มาตรฐานกรมควบคุมมลพิษ ต่ำกว่า 50 PPM
และนอกจากฝุ่น PM 2.5 แล้ว เครื่องบำบัดฝุ่น ยังสามารถกำจัดเชื้อโรค แบคทีเรีย และไวรัสต่างๆในระบบปรับอากาศรวม ซึ่งพบว่าสารประเภทแบคทีเรีย และไวรัสในอากาศ อาทิ โควิด-19 และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย อาทิ สาร Butadiene Toluene และกลุ่มสาร Aromatic hydrocarbons ถูกทำลาย โดยมีปริมาณลดลงภายใน 30 นาที
ภายหลังการเดินเครื่อง ผลสรุปการทำงานสามารถกำจัดเชื้อโรคในอากาศได้เป็นอย่างดียิ่ง โดยอุปกรณ์ชุดนี้ได้ผ่านการทดลอง ทดสอบ ยืนยันจากกรมแพทย์ทหารเรือ และกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (4 กุมภาพันธ์) สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 กทม. วันนี้ หลายพื้นที่คุณภาพอากาศ ดี ถึง ดีมาก แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีน่าเป็นห่วง 2 เขต หนองจอก-ลาดกระบัง ที่เกินมาตรฐานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ