กัมพูชา มี มูลค่าการส่งออกจักรยาน ซึ่งถือได้ว่า เป็น ยานพาหนะรักษ์โลกของทุกวันนี้ ไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยธุรกิจนี้ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 966 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 31,600 ล้านบาท) เลยทีเดียว
สำนักข่าวซินหัว ระบุว่ากระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา เผยว่า มูลค่าการส่งออกจักรยาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นยานพาหนะรักษ์โลกของทุกวันนี้ สู่ตลาดต่างประเทศของกัมพูชา มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 966 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 31,600 ล้านบาท ) เมื่อปี 2565 เพิ่มขึ้น 48% เมื่อเทียบกับสถิติ 651 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 21,300 ล้านบาท ) ในปีก่อนหน้า หรือปี 2564
ทั้งนี้ แปน โสวิเชต ปลัดและโฆษกพาณิชย์ของกัมพูชา กล่าวว่า การส่งออกจักรยาน ยานพาหนะรักษ์โลก และช่วยลดมลพิษ ครอบคลุมมากกว่า 50 ประเทศและภูมิภาค ซึ่งรวมถึงสหภาพยุโรป (EU) สหราชอาณาจักร สหรัฐ แคนาดา ญี่ปุ่น และจีน
ปัจจุบัน จักรยาน กลายเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมหลักเพื่อการส่งออกของกัมพูชา รองจากเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง โดยกัมพูชาเป็นผู้ส่งออกจักรยานอันดับหนึ่งของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ตอนนี้มีโรงงานเปิดดำเนินการ 5 แห่ง ล้วนตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เมืองบาเวต ในจังหวัดสวายเรียง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
การใช้จักรยานช่วยสิ่งแวดล้อมช่วยโลกอย่างไร ?
สำหรับ การปั่นจักรยานนั้น ถือเป็นยานพาหนะที่ลดโลกร้อน ลดการปล่อยมลพิษได้ นอกจากจะช่วยลดใช้น้ำมัน และมลพิษทางอากาศแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างให้มีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ
ณ เข็มนาฬิกาปัจจุบัน ไทยมีผู้ใช้จักรยานมากกว่า 2 ล้านคน และในอนาคตผู้ใช้จักรยานน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนากรุงเทพฯให้เป็นเมืองสีเขียว นอกจากนี้การปั่นจักรยานก็ยังมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดจากการใช้รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ที่มีกว่า 7 ล้านคันทั่วกรุงเทพฯ เป็นการเพิ่มทางเลือกในการสัญจร
•ปั่นจักรยานช่วยลดคาร์บอนคาร์บอนไดออกไซด์
การปั่นจักรยานไปทำงานประมาณ 6.5 กิโลเมตรต่อวัน ยังจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 900 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งหากเราลองศึกษาเมืองหลวงที่มีความเป็นมิตรกับการขี่จักรยาน (Bicycle-Friendly) มากที่สุดในโลกอย่างกรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ที่ซึ่ง 40 % ของการเดินทางในเมืองหลวงเป็นการเดินทางโดยใช้จักรยาน จะพบว่าภายในตัวเมืองอัมสเตอร์ดัมจะมีโครงข่ายเส้นทางจักรยาน สิ่งอำนวยความสะดวก และมีการสร้างที่จอดรถจักรยานขนาดใหญ่ในย่านสำคัญของเมือง และบริเวณสถานีรถไฟหลักของเมืองอีกด้วย
ขณะที่ โคเปนเฮเก้น ในเดนมาร์ก ที่ทำถนนพื้นเรียบรองรับการเดินทางด้วยจักรยานระยะทางกว่า 1.2 ล้านกิโลเมตรต่อวัน อีกทั้งมีวัฒนธรรมสนับสนุนให้ใช้รถจักรยานประจำเมือง ด้วยการอนุญาตให้เช่ารถจักรยานสาธารณะได้ฟรี โดยผู้เช่าเสียเพียงค่ามัดจำ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการสนับสนุนการใช้จักรยาน เช่น ไฟสะท้อนแสงบนผิวทาง ป้ายสัญญาณจราจร เครื่องนับจำนวนจักรยาน
ขณะที่กรุงสตอกโฮล์ม สวีเดน มีทางจักรยานอยู่รอบเมือง มีฮับสำหรับให้เช่าจักรยานกว่า 110 แห่ง อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี