อ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ไขข้อสงสัย เพราะเหตุใด ไวรัล Keep The World ลูกพะยูนเกาะหลังเต่าตนุ จึงเกิดขึ้นได้ เพราะภาพเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ
กลายเป็นประเด็นไวรัลสิ่งแวดล้อมในสังคมอย่างเหลือเชื่อ เมื่อ Facebook Sakanan Plathong เผยแพร่ภาพสุดมหัศจรรย์ ภาพ "ลูกพะยูน" เกาะหลัง "เต่าตนุ" ที่อ่าวดงตาล จังหวัดชลบุรี และเมื่อภาพเหล่านี้ถูกส่งต่อไปจำนวนมาก ทำให้เกิดคำถามว่า เพราะเหตุใด "ลูกพะยูน" กับ "เต่าตนุ" จึงมาอยู่ด้วยกันได้ ทำไมจึงเกิดภาพมหัศจรรย์แบบนี้ขึ้น
ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า มีความเป็นไปได้ที่ แม่พะยูน กับลูก พะยูนตัวนี้ จะคลาดกัน เพราะโดย ธรรมชาติแล้ว ลูกพะยูน เมื่ออยู่กับแม่ จะลอยตัวเหนือแม่เพราะภัยอันตรายจะมาจากด้านล่าง เช่น ฉลามจู่โจม ศัตรูทางธรรมชาติจากด้านบนไม่มี เพราะไม่มีนกกินพะยูน การอยู่ด้านบนยังมีแม่คอยหนุนเวลาโผล่หายใจ เป็นพฤติกรรมของลูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในทะเลทั้งหลาย ตั้งแต่เริ่มเกิด เมื่อเกิดพลัดหลงกับแม่ด้วยสาเหตุต่างๆ ลูกพะยูนจะหาสัตว์ใหญ่ที่ยอมรับตัวเองให้เข้าไปอยู่ด้วย ซึ่งในกรณีนี้ ก็คือ "เต่าตนุ"
.
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ยังให้ความเห็นว่า การที่ลูกพะยูน และ แม่พะยูนต้องคลาดกันนั้น อาจจะเกิดขึ้นจาก เรือวิ่งผ่าน โดนสัตว์อื่นจู่โจม ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติทั้งในทะเล และ ในป่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า...
อ.บอยโชว์ภาพลูกพะยูนกับเต่าตนุที่อ่าวดงตาล ลูกพะยูนว่ายเกาะอยู่บนหลังน่ารักมาก
ธรรมชาติของลูกพะยูน เมื่ออยู่กับแม่ จะลอยตัวเหนือแม่เพราะภัยอันตรายจะมาจากด้านล่าง เช่น ฉลามจู่โจม ศัตรูทางธรรมชาติจากด้านบนไม่มี เพราะไม่มีนกกินพะยูน
การอยู่ด้านบนยังมีแม่คอยหนุนเวลาโผล่หายใจ เป็นพฤติกรรมของลูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในทะเลทั้งหลาย ตั้งแต่เริ่มเกิด
เมื่อเกิดพลัดหลงกับแม่ด้วยสาเหตุต่างๆ ลูกพะยูนจะหาสัตว์ใหญ่ที่ยอมรับตัวเองให้เข้าไปอยู่ด้วย
ปรกติยากมากครับ พะยูนตัวอื่นก็คงไม่เอาด้วย อีกทั้งภาพนี้มาจากอ่าวดงตาล สัตหีบ แม้มีรายงานเรื่องพะยูนเป็นระยะ แต่ไม่ได้มีมากขนาดนั้น
สัตว์ใหญ่ที่โผล่ขึ้นมาหายใจเป็นระยะ คงมีแต่เต่าตัวใหญ่ที่มีอยู่พอสมควร เนื่องจากพื้นที่สัตหีบมีเกาะคราม เกาะแห่งเต่าอันดับหนึ่งของไทย
ลูกพะยูนสับสนในชีวิต กลัวไปหมดทุกอย่าง เมื่อว่ายไปเจอเต่าตนุ จึงขออยู่ด้วย
แม่หนูหายไปไหนก็ไม่รู้ ขอหนูอยู่ด้วยคนได้ไหม ?
ลูกพะยูนคงร้องขอเต่าด้วยเสียงสะอื้น
เต่าใหญ่คงไม่ว่าอะไร อยากอยู่ก็อยู่ไปนะหนูเอ๊ย
จึงกลายเป็นภาพที่เด็ดขาดมาก การพึ่งพาของ 2 ชีวิต
เต่าตนุกินอาหารหลายอย่าง รวมถึงหญ้าทะเล จึงเป็นเรื่องปรกติที่เราพบเต่าอยู่ในแหล่งหญ้า
ในการสำรวจทางอากาศแทบทุกครั้ง เราพบเต่ามากกว่าพะยูน
ลูกพะยูนจึงคอยพึ่งพิงเต่า อาศัยอยู่ในแหล่งหญ้าทะเลที่เป็นอาหารร่วมกัน
ปัญหาสำคัญคือเธอหย่านมหรือยัง กินแต่หญ้าอย่างเดียวจะรอดไหม จะเรียนรู้พฤติกรรมเพื่อดำรงชีวิตจากใคร
โลกนี้โหดร้าย แต่โลกนี้มีปาฏิหาริย์
แค่ลูกพะยูนมาอยู่เต่าได้ แค่นี้ก็เป็นที่สุดของปาฏิหาริย์ ผมยังไม่เคยเห็นที่ไหน
ในทะเลมีความตาย ในทะเลมีน้ำใจ
อวยพรให้ลูกพะยูนอยู่รอดต่อไปให้นานที่สุด รอดจนเติบใหญ่ กลายเป็นเมาคลีแห่งท้องทะเล
เป็นเครื่องเตือนใจเราว่า เมื่อไม่ยอมแพ้ ชีวิตย่อมมีหนทาง
แม่หาย กำพร้า หลงทางกลางทะเล ยังสู้ต่อไป
ความหวังแม้ริบหรี่ยิ่งกว่า 1 ในล้าน ก็ยังคงว่ายน้ำ
ไม่มีคำว่ายอมแพ้อยู่ในความคิดลูกพะยูน จวบจนเจอน้ำใจกลางทะเลอันเวิ้งว้าง
เป็นภาพเด็ดสุดในรอบหลายปีของทะเลไทยเลยครับ
ขอบคุณ อ.บอยและผู้อยู่เบื้องหลังทุกท่าน สำหรับภาพนี้ครับ
• พฤติกรรมของพะยูน
สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand ระบุไว้ว่า พะยูนเป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่าย ดำน้ำได้ลึกถึง 39 เมตร แต่ส่วนใหญ่พะยูน จะดำน้ำอยู่ในระดับ 10 เมตร พะยูนต้องขึ้นมาหายใจ
บนผิวน้ำทุก ๆ 2-3 นาที โดยโผล่จมูกขึ้นมาเหนือผิวน้ำเล็กน้อย บางครั้งอาจจะโผล่ส่วนหลังและหาง พะยูนว่ายน้ำได้เร็วระดับ 1.8-2.2 กม/ชม. อาศัยบริเวณพื้นที่ที่มีแนวหญ้าทะเล ในทะเลเขตร้อน และทะเลเขตกึ่งร้อน
• อาหารของพะยูน
หญ้าทะเลชนิดต่างๆ ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในการกิน และจะอาศัยอยู่ใกล้ๆ บริเวณที่มีหญ้าทะเลขึ้นอุดมสมบูรณ์ สามารถกินอาหารได้ตลอดเวลา เนื่องจากการมองเห็นที่ไม่ชัดเจนนักเท่าไหร่ พะยูนจะใช้จมูกดมกลิ่นในการหาอาหารและใช้หนวดในการสัมผัสสิ่งรอบๆ ตัว
• การสืบพันธุ์ของพะยูน
พะยูนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ประมาณอายุ 9-10 ปี พะยูนตัวเมียตั้งท้องนาน 13-14 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว และทิ้งระยะในการตั้งท้องนาน 3-7 ปี
• ปัจจัยคุกคามของพะยูนในธรรมชาติ
1 การสร้างมลพิษทางทะเล
2 อันตรายจากเรือประมง
3 การล่าพะยูน