ชวนมาดูกันว่า ปัจจุบัน สถานการณ์ เสือโคร่ง ในไทยเป็นอย่างไรบ้าง ? เพราะสัตว์ป่าที่กำลังใกล้สูญพันธุ์ ก็มีจำนวนน้อยลงไปทุกที และที่จริงแล้ว เสือโคร่งนั้นก็มีบทบาทสำคัญ ในการสะท้อนดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศได้ด้วย
จากประเด็น พบซากเสือโคร่งวิจิตร เสือโคร่งหนุ่มจากห้วยขาแข้ง ตายในป่าแม่วงก์ ซึ่งสาเหตุเบื้องต้นคาดสาเหตุเกิดจากการต่อสู้แย่งชิงอาณาเขต ซึ่งจากกรณีนี้ หากจะมองว่า ประเทศไทย ได้สูญเสีย สัตว์ป่าที่กำลังใกล้สูญพันธุ์ ไปอีกหนึ่งชีวิตก็คงไม่ผิดจากความเป็นจริงเท่าไรนัก
ทราบหรือไม่ว่า การตายของเสือโคร่งวิจิตร นับเป็นอีกหนึ่งชีวิตของเสือโคร่ง ในไทยที่ต้องสูญเสียและลดจำนวนไป ซึ่ง ณ ปัจจุบันก็มีตัวเลขน้อยอยู่แล้ว
โดยข้อมูลปี 2021 จากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ระบุว่า ประเทศไทยมี เสือโคร่งอยู่ในธรรมชาติราวๆ 145-177 ตัว โดยเสือโคร่ง พบมากที่สุดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รองลงมาคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติทับลาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ตัวเลขทั่วโลก มีจำนวนเสือโคร่ง 3,200 ตัวเท่านั้น ซึ่งนั่นคงไม่แปลก หาก เสือโคร่ง ยังถูกระบุให้เป็น สัตว์ป่าที่กำลังใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากมีจำนวนประชากรในธรรมชาติที่ลดลงถึง 97% ภายในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา
แม้ การตายของเสือโคร่งวิจิตร อาจเกิดจากเรื่องราวของวิถีธรรมชาติของสัตว์ป่า แต่เชื่อหรือไม่ว่า ตัวเลขจากทั่วโลก มีเสือโคร่งจำนวนไม่น้อยที่ต้องเสียชีวิตด้วยน้ำมือของมนุษย์ โดยข้อมูล องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ระบุว่า การวางกับดักของพรานเป็นอีกหนึ่งปัจจัยคุกคามหลักต่อเสือโคร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยพบว่ามีจำนวนกับดักพรานมากกว่า 12 ล้านชิ้นในป่าอนุรักษ์ ทั้งในกัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นประเทศที่เสือโคร่งได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณต่อประเทศที่ยังมีเสือโคร่งอาศัยอยู่ตามธรรมชาติให้เฝ้าระวัง และเดินหน้าโครงการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วนต่อไป
ในขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยคุกคาม ชีวิตเสือโคร่ง ด้านอื่น ๆ อาทิ การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยจากการพัฒนาของระบบสาธารณูปโภค การตัดไม้ผิดกฎหมาย และการขยายพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงปัจจัยคุกคามด้านการค้าเสือโคร่งและชิ้นส่วนของเสือโคร่งที่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทั้งนี้มีข้อมูลระบุว่ามีการตรวจยึดเสือโคร่งได้ทั้งหมด 1,004 ตัว ระหว่างปี 2000 – 2018 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เสือโคร่ง ถือว่า เป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ และเสือโคร่ง อย่าง "เสือโคร่งวิจิตร" ที่เพิ่งตายไป ก็ยังเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เนื่องจากเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่ต้องการใช้พื้นที่อาศัยขนาดใหญ่และมีความต้องการสัตว์ที่เป็นเหยื่อที่หลากหลาย
หากเสือโคร่งสามารถอาศัยอยู่ได้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าสัตว์ชนิดต่าง ๆ ก็อาศัยอยู่ได้อย่างปกติเช่นกัน แต่ปัจจุบันประชากรของเสือโคร่งลดลงอย่างน่าเป็นห่วง จนถูกจัดให้อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species) เนื่องจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ การสูญเสียที่อยู่อาศัย การถูกล่า และปริมาณของสัตว์ที่เป็นเหยื่อลดลง
ที่มา dnp.go.th