ปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่ที่ประเทศต่างๆ กำลังให้ความสำคัญและเร่งแก้ไข ซึ่งการจัดการปัญหาขยะอย่างเป็นระบบและยั่งยืนนั้นในหลายๆ ประเทศมีกฎข้อบังคับออกมาเพื่อช่วยในการจัดการปัญหาขยะ ประเทศไหนเป็นอย่างไรมาดูกัน
จากรายงานเรื่อง The drive toward sustainability in packaging-beyond the quick wins (Berg et al., 2020) ระบุว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์เติบโตอย่างมาก พร้อมกับการเพิ่มการใช้พลาสติกในการทำบรรจุภัณฑ์แทนที่วัสดุประเภทอื่นเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายของลูกค้า อย่างไรก็ตามการใช้บรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single-use packing containers) จำนวนมหาศาลนำมาซึ่งปัญหาขยะล้นเมืองและปนเปื้อน แหล่งน้ำในธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ตลอดจนทะเลและมหาสมุทรที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
และจากปัญหาเหล่านี้ทำให้ประชาชนออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินการแก้ไข ยกตัวอย่างประเทศที่ได้ดำเนินการออกกฎหมายข้อบังคับในเรื่องขยะจากบรรจุภัณฑ์ เช่น 16 รัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกข้อบังคับระดับรัฐมุ่งเป้าไปที่การลดจำนวนพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ถุงใส่สินค้าจากร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และมุ่งเพิ่มการนำขยะมารีไซเคิล
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
Caudalie คิดเพื่อโลก กันแดดไม่กระทบระบบนิเวศน์ทางน้ำ แพ็กแกจย่อยสลายได้
ขยะพลาสติกในทะเล สู่ BCG สร้างรายได้ให้ชุมชนและบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก
จุดทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทิ้งที่ไหนดี E-Waste+ จัดให้ ง่าย สะดวกแถมช่วยโลก
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายๆ ประเทศที่เดินหน้าแก้ปัญหาขยะโดยเฉพาะจากบรรจุภัณฑ์ซึ่งในที่นี้คือพลาสติกต่างๆที่กลายเป็นขยะและกลายเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศว่าความเข้มงวดจนถึงขั้นเรียกเก็บเงินจากบริษัทผู้ผลิตสินค้าที่ไม่ได้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น
ประเทศจีน สั่งห้ามและจำกัดการนำเข้าของขยะจากบรรจุภัณฑ์ (packaging waste) ในปี 2017 โดยกำลังวางแผนจะสั่งห้ามการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ในปี 2022
ออสเตรเลีย มุ่งเป้าที่การฟื้นคืนและการนำกลับมาใช้ใหม่ของบรรจุภัณฑ์ (optimizing recovery and recycling of packaging)
แคนาดา ออกยุทธศาสตร์ระดับประเทศเรื่องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและมีแผนการออกยุทธศาสตร์เรื่อง Zero Plastic Waste ที่มีเป้าหมายในปี 2030
อินเดีย ออกกฎระเบียบที่ส่งเสริมการใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และส่งเสริม การสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการแยกขยะ
ข้ามมาที่ทวีปยุโรปได้มีการออกข้อบังคับในเดือนกรกฎาคม 2019 New EU Directive for Single-Use Plastics (EU Commission, 2020) เพื่อลดจำนวนการใช้พลาสติกแบบ single-use กว่า 10 ประเภท ซึ่งมักพบเป็นขยะตามชายหาดของยุโรป สินค้าพลาสติก 10 ประเภท ได้แก่ แกนสำลีปั่นหู จานอาหาร หลอดดูด และช้อนคน ลูกโป่งและแกนไม้ติดลูกโป่ง ภาชนะบรรจุอาหาร แก้วใส่เครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่ม ที่รองมวนบุหรี่ ถุงหิ้วพลาสติก ที่ห่อของ และที่เช็ดทำความสะอาดแบบเปียก
นอกจากนี้ประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ ได้ออกหลักเกณฑ์ Extended Producer Responsibilities (EPRS) เพื่อให้ผู้ผลิตสินค้าหรือผู้นำเข้าสินค้าเป็นผู้รับผิดชอบทั้งด้วยการจัดการและด้วยการเงินต่อสินค้าของตนในทุกช่วงของวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (product life-cycle)